หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ทำอย่างไร...โรงเรียนของเราจะเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้


ทำอย่างไร...โรงเรียนของเราจะเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้

     ปัจจุบันเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในโลกอย่างมากในแทบทุกด้าน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต การศึกษาวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ของโลกจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์ รวมทั้งด้านการศึกษาด้วย ในแวดวงการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การปฏิรูปการศึกษาซึ่งมีความมุ่งหมายที่จะจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี คนเก่ง มีความเมตตากรุณา และมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข 
      ด้วยความสำคัญดังกล่าว การก้าวให้ทันโลกนั้น...จำเป็นอย่างยิ่งที่โรงเรียนของเราต้องปรับตัวให้เป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ 
      จากการศึกษา "กระบวนการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา" ของ วิจารณ์  พานิช (2555: ออนไลน์) กล่าวว่า การพัฒนาหน่วยราชการให้เป็นองค์การเรียนรู้   เป็นหัวใจของการปฏิรูประบบราชการ เป็นทิศทางที่ยอมรับกันทั่วไป เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนระบบราชการไทยไปสู่ระบบเรียนรู้ องค์การเรียนรู้ ผ่านกระบวนการจัดการความรู้ จึงได้เสนอ "ทศปฏิบัติสู่ความเป็นองค์การเรียนรู้ของหน่วยราชการ" ดังนี้
        ปฏิบัติที่  1 สร้างวัฒนธรรมใหม่ จะต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์การ (Corporate culture) ของหน่วยราชการ จากวัฒนธรรมอำนาจเป็นวัฒนธรรมความรู้ จากการบริหารงานแบบควบคุม สั่งการ (command and control) เป็นบริหารงานแบบเอื้ออำนาจ (empower) ให้ข้าราชการทุกระดับริเริ่มสร้างสรรค์วิธีการทำงานใหม่ ๆ ได้
         ปฏิบัติที่  2 สร้างวิสัยทัศน์ร่วม (Shared vision) ดำเนินกระบวนการให้คนในองค์การร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ (vision) ปณิธานความมุ่งมั่น (purpose) และเป้าหมาย (goal)     
         ปฏิบัติที่  3 สร้างและใช้ความรู้ในการทำงาน ทุกคนสร้างและใช้ความรู้ในการทำงาน และในกิจกรรมเพื่อการดำรงชีพทุกประเภท ทุกหน่วยงานสร้างและใช้ความรู้ในการทำงานทุกภาคส่วนของสังคมสร้างและใช้ความรู้ในการทำงาน
         ปฏิบัติที่  4 เรียนลัด การเรียนลัดนี้ต้องไม่เรียนแบบคัดลอกแต่ต้องเอาความรู้ของเขามาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม (บริบท context) ของเรา แล้วจึงดำเนินการ ต่อยอด ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของเราเอง เทคนิคการเรียนรู้จากผู้มี วิธีการยอดเยี่ยม (best practices) ได้แก่ benchmarking และ peer assist
          ปฏิบัติที่  5 สร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยยุทธศาสตร์เชิงบวก ใช้วิธีคิดเชิงบวกว่าตามวิสัยทัศน์ที่ร่วมกันกำหนดนั้น ให้เสาะหาตัวอย่างของ วิธีการยอดเยี่ยมให้พบ แล้วนำมายกย่องและจัดกระบวนการ แบ่งปันความรู้ เพื่อขยายผล โดยจัดเวทีให้มีการนำเสนอ ยกย่อง และแลกเปลี่ยนความรู้และวิธีการกันภายในองค์การ 
          ปฏิบัติที่  6 จัด พื้นที่ หรือ เวที หมายถึงพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งอย่างไม่เป็นทางการและอย่างเป็นทางการ ซึ่งพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อาจเป็น พื้นที่จริง สำหรับให้คนมาพบหน้ากันโดยตรง หรืออาจเป็น พื้นที่เสมือน ให้คนได้พบกันผ่าน ICT  
          ปฏิบัติที่  7 พัฒนาคน เน้นการพัฒนาคนผ่านการทำงาน คือพัฒนาคน พัฒนางานไปพร้อม ๆ กัน โดยคนที่เกิดการพัฒนาจะเป็น บุคคลเรียนรู้ เป็นคนที่มีทักษะและเจตคติในการเรียนรู้  
          ปฏิบัติที่  8 ระบบให้คุณ ให้รางวัล รางวัลที่สำคัญที่สุดคือความภาคภูมิใจในความมีคุณค่าของตน ความสุขจากการได้รับการยอมรับ การเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าขององค์การ ดังนั้น รางวัลไม่จำเป็นต้องเป็นเงิน หรือการเลื่อนยศ เลื่อนขั้น เลื่อนเงินเดือน  เสมอไป
          ปฏิบัติที่ 9 หาเพื่อนร่วมทาง ทำเป็นเครือข่าย อย่าทำองค์การเดียวโดด ๆ เพราะจะขาดพลัง ขาดแรงกระตุ้น เป็นธรรมชาติของการดำเนินการสร้างสรรค์หรือเปลี่ยนแปลง พอทำไประยะหนึ่งจะล้าและอาจหมดแรงล้มเหลวไปเลย แต่ถ้าทำเป็นเครือข่ายจะมีการกระตุ้นเสริมพลัง  
          ปฏิบัติที่ 10 จัดทำ ขุมความรู้ (knowledge assets) เป็นการรวบรวมความรู้ที่ ถอด มาจากการทำ AAR, การทำ peer assist, และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบอื่นๆ 
            วิถีสู่การเป็นองค์การเรียนรู้ของหน่วยราชการมีวิถีเดียว   คือวิถีแห่งการปฏิบัติ   และที่สำคัญผู้บริหารองค์การต้องไม่เพียงแต่ บริหารงาน ต้อง บริหารทศปฏิบัติ ด้วย   จึงจะเกิดผลสร้างสรรค์องค์การเรียนรู้
         ดิฉันเองเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว หากเราอยากให้โรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้แล้ว การนำ "ทศปฏิบัติสู่ความเป็นองค์การเรียนรู้ของหน่วยราชการ" มาปรับและประยุกต์ใช้น่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในนำพาสถานศึกษาให้สามารถปรับตัวให้ทันกับกระแสโลกได้อย่างแท้จริง

 วิจารณ์  พานิช. ทศปฏิบัติสู่ความเป็นองค์การเรียนรู้ของหน่วยราชการ. สถาบันส่งเสริมการจัดการ 
       ความรู้เพื่อสังคม (สคส.) สืบค้นจาก www.kmi.or.th .
         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น