หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รูปแบบการบริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิผล


รูปแบบการบริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิผล

          เมื่อพิจารณาภารกิจของโรงเรียนแล้วจะเห็นได้ว่า โรงเรียนมีภารกิจหลักคือ การจัดการศึกษาและการบริหาร ซึ่งต้องใช้กระบวนการและปัจจัยจึงจะบรรลุผล ในกระบวนการจะอาศัยทั้งผู้บริหารโรงเรียนและครู ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องมีศักยภาพหลายด้าน จึงจะนำโรงเรียนประสบความสำเร็จ ซึ่งท่านศาสตราจารย์ ดร.ธีระ รุญเจริญ (2550:1-2) ที่ได้กล่าวว่าผู้บริหารสถานศึกษาเป็นบุคลากรหลักที่สำคัญของสถานศึกษาและเป็นผู้นำวิชาชีพที่จะต้องมีสมรรถนะ ความรู้ ความสามารถ และคุณธรรม จริยธรรม ตลอดทั้งจรรยาบรรณวิชาชีพที่ดี จึงจะนำไปสู่การจัดและการบริหารสถานศึกษาที่ดี มีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ กล่าวคือ
1.ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ตลอดทั้งแนวทางการปฏิรูปการศึกษาเกี่ยวกับ (1) ผลการจัดและปัญหาการจัดการศึกษาที่ผ่านมาในด้านต่าง ๆ (2) ผลการประเมินคุณภาพภายนอก (3) แผนการศึกษาแห่งชาติ (4) ยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ (5) นโยบายของกระทรวงศึกษาของสำนักงานที่เกี่ยวข้อง (6) แนวภารกิจของสถานศึกษาที่กำหนดไว้ (7) แนวการบริหารและจัดการศึกษา (8) ความเป็นมืออาชีพในการบริหารการศึกษา และ (9) แนวทางการปฏิรูปการศึกษา
2.  ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา ทั้งการประกันคุณภาพภายในและการประกันคุณภาพภายนอก ตลอดทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรฐานการศึกษาของชาติ มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อประเมินภายนอก
3. ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีสมรรถนะในการจัดการศึกษา และการบริหารการศึกษาในด้านต่าง ๆ ด้วยความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง กล่าวคือ จะต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อยตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพตามข้อบังคับของคุรุสภา
4. ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีภาวะผู้นำที่เอื้อต่อการบริหารและจัดการศึกษาในยุคนี้ โดยเฉพาะภาวะผู้นำทางวิชาการและภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง
5. ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีความรู้ ความสามารถในการบริหารฐานโรงเรียน (SBM) ตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ.2547 และสามารถนำหลักธรรมมาภิบาลมาใช้ในการบริหารและการจัดการศึกษา รวมทั้งสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานและตัวบ่งชี้การบริหารฐานโรงเรียนตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาพัฒนาไว้
          6. ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีความสามารถทำให้โรงเรียนเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง และจะต้องให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) และการพัฒนาสมองเพื่อการเรียนรู้ (Brain-based Learning Development: BBL)
          7. ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการจัดชั้นและการจัดโรงเรียนในกระบวนการเรียนการสอน เพื่อจะเลือกใช้และนำไปสู่วัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
          8. ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในแนวคิด หลักการและการจัดทำหลักสูตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา และจะต้องมีความเข้าใจและสามารถส่งเสริมการเรียนการสอน โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
          9. ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการวิจัยในโรงเรียน ทั้งการวิจัยและการพัฒนาในกระบวนการบริหารและกระบวนการจัดการเรียนการสอน ตลอดทั้งการส่งเสริมการใช้กระบวนการตรวจวิจัยในการเรียนรู้ของนักเรียน
สรุปได้ว่า ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นบุคลากรหลักที่สำคัญของสถานศึกษาและเป็นผู้นำวิชาชีพที่จะต้องมีสมรรถนะ ความรู้ ความสามารถ และคุณธรรม จริยธรรม ตลอดทั้งจรรยาบรรณวิชาชีพที่ดี จึงจะนำไปสู่การจัดและการบริหารสถานศึกษาที่ดี มีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ

หนังสืออ้างอิง
ธีระ รุญเจริญ. ความเป็นมืออาชีพในการจัดและบริหารการศึกษายุคปฏิรูปการศึกษา.
กรุงเทพฯ : ข้าวฟ่าง, 2550. 

อาคะณัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น