หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รูปแบบการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาของประเทศไทย(ตอน 3)


...การกระจายอำนาจเป็นการบริหารการศึกษาอีกแบบหนึ่งที่จะช่วยให้สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน โดยมีผู้ส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสถานศึกษา ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตรงตามความต้องการของชุมชน เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข ซึ่งข้าพเจ้าเห็นด้วยกับแนวคิดของ กมล สุดประเสริฐ ที่กล่าวว่า ...รูปแบบการบริหารและการจัดการศึกษาแบบกระจายอำนาจของไทย ควรเป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้มีกระทรวงศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ทำหน้าที่กำกับดูแล โดยลดภาระหน้าที่ในการบริหารจัดการศึกษาลง พร้อมโอนอำนาจหน้าที่ในการบริหารและจัดการศึกษาให้เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด โดยเขตพื้นที่การศึกษาควรจัดเป็นองค์การบริหารการศึกษาส่วนท้องถิ่นที่รัฐกำหนดขึ้นในแต่ละจังหวัด…”  โดยมีลักษณะเป็น หน่วยงานบริการรูปแบบพิเศษ (service Delivery Unit : SDU)เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช้ส่วนราชการ ซึ่งได้รับการจัดตั้งเพื่อให้บริการแก่หน่วยงานต้นสังกัด ส่วนราชการอื่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ/หรือประชาชน โดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหารายได้(กำไร) และนำส่งรายได้เข้ารัฐโดยตรงหรือจำเป็นต้องเลี้ยงตัวเองได้เป็นสำคัญ (Full cost recovery) (ชัยรัตน์ หลายวัชระกุล 2549 : 37) ซึ่งข้าพเจ้าขอเรียกเล่น ๆ ว่า “SDU ทางการศึกษาและในการบริหารจัดการในสถานศึกษาแต่ละแห่งที่มีความแตกต่างกันไปตามบริบทแวดล้อมที่เป็นอยู่ และความต้องการของสถานศึกษาก็แตกต่างกันด้วยทำให้การนำแนวคิดการบริหารแบบการใช้โรงเรียนเป็นฐานมาใช้แตกต่างกัน ซึ่งมีรูปแบบที่ อุทัย บุญประเสริฐ (2544 อ้างใน ธีระ รุญเจริญ 2550 : 163) ได้เสนอไว้มี 4 รูปแบบ คือ 1)  รูปแบบการบริหารโดยใช้ชุมชนเป็นหลัก 2) รูปแบบบริหารโดยใช้ผู้บริหารโรงเรียนเป็นหลัก 3) รูปแบบบริหารโดยเป็นโรงเรียนในกำกับ (Charter School) และ 4) รูปแบบบริหารแบบเอกชน ซึ่งการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานทำให้โรงเรียนมีอำนาจมากขึ้นในการตัดสินใจและต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อ : 1) การวางแผนพัฒนาโรงเรียน 2) การจัดการเรียนการสอนและพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน 3) การพัฒนาบุคลากร และ 4) การจัดการการเงินและงบประมาณ
เมื่อพิจารณาภารกิจของโรงเรียนแล้วจะเห็นได้ว่า โรงเรียนมีภารกิจหลักคือ การจัดการศึกษาและการบริหาร ซึ่งต้องใช้กระบวนการและปัจจัยจึงจะบรรลุผล ในกระบวนการจะอาศัยทั้งผู้บริหารโรงเรียนและครู ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องมีศักยภาพหลายด้าน จึงจะนำโรงเรียนประสบความสำเร็จ ดังที่ ธีระ      รุญเจริญ (2550:1-2) ได้กล่าวว่าผู้บริหารสถานศึกษาเป็นบุคลากรหลักที่สำคัญของสถานศึกษาและเป็นผู้นำวิชาชีพที่จะต้องมีสมรรถนะ ความรู้ ความสามารถ และคุณธรรม จริยธรรม ตลอดทั้งจรรยาบรรณวิชาชีพที่ดี จึงจะนำไปสู่การจัดและการบริหารสถานศึกษาที่ดี มีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ กล่าวคือ
1.ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ตลอดทั้งแนวทางการปฏิรูปการศึกษาเกี่ยวกับ (1) ผลการจัดและปัญหาการจัดการศึกษาที่ผ่านมาในด้านต่าง ๆ (2) ผลการประเมินคุณภาพภายนอก (3) แผนการศึกษาแห่งชาติ (4) ยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ (5) นโยบายของกระทรวงศึกษาของสำนักงานที่เกี่ยวข้อง (6) แนวภารกิจของสถานศึกษาที่กำหนดไว้ (7) แนวการบริหารและจัดการศึกษา (8) ความเป็นมืออาชีพในการบริหารการศึกษา และ (9) แนวทางการปฏิรูปการศึกษา
2.  ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา ทั้งการประกันคุณภาพภายในและการประกันคุณภาพภายนอก ตลอดทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรฐานการศึกษาของชาติ มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นบานเพื่อประเมินภายนอก
3. ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีสมรรถนะในการจัดการศึกษา และการบริหารการศึกษาในด้านต่าง ๆ ด้วยความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง กล่าวคือ จะต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อยตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพตามข้อบังคับของคุรุสภา
4. ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีภาวะผู้นำที่เอื้อต่อการบริหารและจัดการศึกษาในยุคนี้ โดยเฉพาะภาวะผู้นำทางวิชาการและภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง
5. ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีความรู้ ความสามารถในการบริหารฐานโรงเรียน (SBM) ตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ.2547 และสามารถนำหลักธรรมมาภิบาลมาใช้ในการบริหารและการจัดการศึกษา รวมทั้งสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานและตัวบ่งชี้การบริหารฐานโรงเรียนตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาพัฒนาไว้
          6. ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีความสามารถทำให้โรงเรียนเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง และจะต้องให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) และการพัฒนาสมองเพื่อการเรียนรู้ (Brain-based Learning Development: BBL)
          7. ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการจัดชั้นและการจัดโรงเรียนในกระบวนการเรียนการสอน เพื่อจะเลือกใช้และนำไปสู่วัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
          8. ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในแนวคิด หลักการและการจัดทำหลักสูตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา และจะต้องมีความเข้าใจและสามารถส่งเสริมการเรียนการสอน โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
          9. ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการวิจัยในโรงเรียน ทั้งการวิจัยและการพัฒนาในกระบวนการบริหารและกระบวนการจัดการเรียนการสอน ตลอดทั้งการส่งเสริมการใช้กระบวนการตรวจวิจัยในการเรียนรู้ของนักเรียน
ซึ่งในการวางแผนและควบคุมการปฏิบัติงานต่าง ๆ ผู้บริหารจะต้องมีเทคนิคในการบริหารโดยใช้เครื่องมือ วิธีการ และวิธีปฏิบัติในการนิเทศ แนะแนวและจูงใจบุคลากรให้ปฏิบัติงานให้ได้ผลดี ดังนั้น ผู้บริหารการศึกษานับว่าเป็นบุคลากรที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการที่จะบริหารสถาบันการศึกษา ให้ประสบความสำเร็จ ผู้บริหารที่ดีต้องเป็นบุคคลคุณภาพ สามารถที่จะเป็นผู้นำ เป็นที่รัก เคารพยำเกรงของผู้ใต้บังคับบัญชาและของบุคคลรอบด้านได้ นอกจากนี้ต้องมีทักษะทางสังคมที่ดี ไม่ว่าในด้านการแสดงออก ทางด้านการสื่อสารกับผู้อื่น การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี การตัดสินใจและแก้ปัญหาด้วยข้อมูลที่เป็นจริงมีเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์หรือสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งมีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็น ตลอดทั้งยังมีความภูมิใจในตนเองและทำงานได้อย่างมีความสุขจึงจะช่วยให้สถานศึกษาแห่งนั้นมีความเจริญก้าวหน้าไปด้วยดี หรืออาจกล่าวได้ว่าสถานศึกษาแห่งนั้นจะต้องมีผู้นำที่เก่งในการบริหารคนและบริหารตนนั่นเอง 
....................................................................(มีต่อ)................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น