หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

งานวิจัยที่เคยทำ


ความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาดทางอารมณ์และพฤติกรรมการตัดสินใจของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 
อังคณา นาสารี * 
อังคณา นาสารี : ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ : รองศาสตราจารย์ ดร.ทองใบ สุดชารี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนอ ภิรมจิตรผ่อง

บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาความฉลาดทางอารมณ์ของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 (2) ศึกษาพฤติกรรมการตัดสินใจในการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 (3) เปรียบเทียบความฉลาดทางอารมณ์และพฤติกรรมการตัดสินใจในการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 โดยจำแนกตามเพศ ประสบการณ์ และขนาดโรงเรียน และ (4) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาดทางอารมณ์และพฤติกรรมการตัดสินใจในการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3
            กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 144 คน จากโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 54 คน ขนาดกลาง จำนวน 54 คน และขนาดใหญ่ จำนวน 36 คน กลุ่มตัวอย่างได้มาจากเทียบกับตารางสำเร็จรูปของ Krejcie และ Morgan แล้วใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified random sampling) โดยจำแนกตามขนาดโรงเรียน
            เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ มี 2 ประเภท คือ (1) แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์สำหรับประชาชนชาวไทย (12-60 ปี) ที่พัฒนาโดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จำนวนทั้งสิ้น 52 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับและรายด้าน คือ ด้านดี เก่ง และสุข เท่ากับ .85, 75, .76 และ .81 ตามลำดับ และ (2) แบบสอบถามพฤติกรรมการตัดสินใจในการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น จำนวน 56 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับและรายด้าน คือ ด้านการบริหารงานวิชาการ งบประมาณ บุคคล และบริหารทั่วไป เท่ากับ.97, .93, .91, .93 และ  .93 ตามลำดับ
            สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คำนวณหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่า t การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-way ANOVA) และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อย่างง่ายแบบ Pearson โดยโปรแกรม SPSS for Windows
                    ผลการวิจัยพบว่า
               1) ผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 มีความฉลาดทางอารมณ์อยู่ในระดับสูง และเมื่อจำแนกตามเพศ ประสบการณ์ในการบริหารและขนาดโรงเรียน พบว่า ความฉลาดทางอารมณ์อยู่ในระดับสูง
               2) ผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 มีพฤติกรรมการตัดสินใจในการบริหารโดยใช้ลักษณะการตัดสินใจแบบที่ 4 และเมื่อจำแนกตามเพศ ประสบการณ์ในการบริหารและขนาดโรงเรียน พบว่ามีพฤติกรรมการตัดสินใจโดยใช้ลักษณะที่ 4   
               3) ผลการเปรียบเทียบความฉลาดทางอารมณ์ ของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 โดยจำแนกตามเพศและประสบการณ์บริหาร แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และเมื่อจำแนกตามขนาดโรงเรียน พบว่าไม่แตกต่างกัน และผลการเปรียบเทียบพฤติกรรมการตัดสินใจในการบริหาร ของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 โดยจำแนกตามเพศ ประสบการณ์บริหาร และขนาดโรงเรียน พบว่าไม่แตกต่างกัน
               4) ความฉลาดทางอารมณ์และพฤติกรรมการตัดสินใจในการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (r) เท่ากับ .34  

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

         ปัจจุบันเป็นยุคโลกภิวัตน์ มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในสาระและวิธีการที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างล้าสมัยเร็ว กอปรทั้งเป็นไปในลักษณะไร้พรมแดน เป็นสังคมที่อาศัยองค์ความรู้   และเป็นเศรษฐกิจฐานความรู้ (ธีระ รุญเจริญ 2550 : 98) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ดังนั้นการศึกษาวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ของโลกจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์ รวมทั้งด้านการศึกษาด้วย (ปองสิน วิเศษศรี 2549 : 26) การคาดหวังที่จะให้การศึกษามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ แต่ทว่าระบบการศึกษาไทยไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เพราะความไม่พร้อมทั้งทางด้านปริมาณ (ประชาชนมีการศึกษาน้อย) ด้านคุณภาพการศึกษายังต่ำ เมื่อเทียบกับนานาประเทศ ด้านความเสมอภาคและสิทธิทางการศึกษายังเหลื่อมล้ำกันมาก ตลอดจนยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ (สำนักงานปฏิรูปการศึกษา 2544 : 3)
ปัญหาการบริหารและจัดการศึกษามีทั้งด้านคุณภาพการศึกษา ปัญหาโรงเรียน ปัญหาหลักสูตรและการสอน เขตพื้นที่การศึกษา การบริหารจัดการศึกษา และการปฏิรูปการศึกษา เหตุการณ์ดังกล่าวนับว่าเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ในแต่ละวันผู้บริหารโรงเรียนมีภาระหน้าที่ในการจัดการบริหารจัดการเพื่อให้บุคลากรสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสุขต่อสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน นอกจากนั้นยังจะต้องเผชิญกับปัญหาอื่น ๆ อีก เช่น ปัญหาเรื่องระเบียบวินัย ปัญหากับผู้ปกครอง ปัญหาการเรียนของนักเรียน หรือแม้แต่ปัญหาของบุคลากรในโรงเรียนเอง เป็นต้น ปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนนั้นเป็นสิ่งที่ผู้บริหารหลีกเลี่ยงไม่ได้ (วัลลภา อารีรัตน์ 2545 : 14) ดังนั้น การบริหารจัดการจึงจำเป็นต้องปรับและพัฒนาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผู้บริหารจะต้องสนใจใฝ่รู้ และพัฒนาตนเองตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะทำให้ การจัดการศึกษาเกิดผลดี ตลอดจนบรรลุวัตถุประสงค์ (ธีระ รุญเจริญ 2550 : 98)
       ผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจึงเป็นบุคลากรที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการที่จะบริหารสถาบันการศึกษาให้ประสบความสำเร็จ ผู้บริหารที่ดีต้องเป็นบุคคลคุณภาพ เป็นผู้นำที่เก่งในการบริหารคนและบริหารตน  เป็นบุคคลที่มีภาวะผู้นำสูงสามารถใช้ภาวะผู้นำของตนในการระดมทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และในการระดมทรัพยากรปัจจัย ทั้งปัจจัยด้านเงิน วัสดุ ครุภัณฑ์ต่าง ๆ ให้เพียงพอในการดำเนินงานภารกิจ และใช้ทรัพยากรเหล่านี้ในการปฏิบัติงานขององค์การได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ (สมาน อัศวภูมิ 2549 : 382)
        นอกเหนือจากความฉลาดทางปัญญาที่เรารู้จักกันมานานแล้ว ในปัจจุบัน ผู้บริหารขององค์กรชั้นนำ ต้องหันมาสนใจในเรื่องของความฉลาดทางอารมณ์ ดังเช่น Goleman (1995 : 45-46) ได้ชี้ให้เห็นว่าทำไมความฉลาดทางอารมณ์จึงมีความสำคัญมากกว่าเชาว์ปัญญา โดยกล่าวว่าเป็นระยะเวลายาวนานที่คนเราให้ความสำคัญกับสมองโดยไม่ใส่ใจสิ่งสำคัญที่ช่วยส่งเสริมความสำเร็จในชีวิต คือกลุ่มของทักษะทางอารมณ์ที่สามารถสอนได้ ไม่เหมือนเชาว์ปัญญาที่ยากแก่การสอนและพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ช่วยอธิบายว่าทำไมบุคคลที่มีความฉลาดทางปัญญาสูงไม่สามารถประสบความสำเร็จในชีวิต ในขณะที่บางคนมีความฉลาดทางปัญญาธรรมดากลับเป็นผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตสูงสุด นอกจากนี้ความฉลาดทางอารมณ์เป็นความสามารถที่จะจัดการและตรวจสอบอารมณ์ของตนเองทุกนาที จูงใจตนเองไปยังเป้าหมาย เข้าใจผู้อื่นและจัดการกับความขัดแย้งและสัมพันธภาพระหว่างบุคคลได้เป็นอย่างดี มีผลการวิจัยที่ระบุว่า ภายหลังการติดตามเก็บข้อมูลจากผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกทางวิทยาศาสตร์จำนวน 80 คน ตั้งแต่ยังศึกษาอยู่จนถึงบั้นปลายชีวิตวัย 70 ปี พบว่าความสามารถทางด้านอารมณ์และสังคม มีส่วนทำให้ประสบความสำเร็จในวิชาชีพ และมีชื่อเสียงมากกว่าความสามารถทางเชาวน์ปัญญา (IQ) ถึง 4 เท่า (กรมสุขภาพจิต 2543 : 1)
          ดังนั้น ผู้บริหารควรใช้ทั้งสติปัญญาและความสามารถทางอารมณ์ ซึ่งองค์ประกอบ 5 ประการของความฉลาดทางอารมณ์ คือ การตระหนักรู้ตนเอง การจัดการอารมณ์ การสร้างแรงจูงใจ ความเห็นอกเห็นใจ และทักษะทางอารมณ์ โดยผู้บริหารต้องรู้จักนำมาประยุกต์ใช้เพื่อนำพาองค์การก้าวนำการเปลี่ยนแปลง ความฉลาดทางอารมณ์ของผู้บริหารทำให้เกิด ผลกระทบไปในทางที่ดีต่อองค์การ โดยช่วยให้บุคลากรสร้างสรรค์งาน มีการยอมรับในจุดมุ่งหมาย มีความหมาย ทำให้เกิดทีมงานที่มีคุณภาพ ไว้เนื้อเชื่อใจและนับถือกัน ซึ่งจะทำให้บุคลากรแต่ละคนมีส่วนร่วมในการทำงานในองค์การได้อย่างแท้จริง
         การบริหารแทบทุกด้านทุกขั้นตอนมีการตัดสินใจเป็นแกน และเป็นที่ยอมรับว่าการบริหารกับการตัดสินใจก็คือสิ่งเดียวกัน (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2523 : 124) การตัดสินใจเป็นความสามารถที่สำคัญของผู้บริหาร ที่จะต้องเรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาให้เกิดความเฉียบคม เพื่อเป็นประโยชน์ในการบริหารองค์การให้มีประสิทธิภาพ มีการตัดสินใจที่ทันเวลา นำมาซึ่งผลประโยชน์มากมายขององค์การ อีกทั้งสะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่สามารถมองเห็นการณ์ไกล (ทองใบ สุดชารี 2548 : 327) การตัดสินใจแต่ละครั้งของผู้บริหารจะเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือกลุ่มคนที่หลากหลาย แต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มจะมีพื้นฐานประสบการณ์ พื้นฐานความรู้ และความคาดหวังแตกต่างกัน (วัลลภ กันทรัพย์ 2541 : 67) ซึ่งการตัดสินใจที่ดีจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล ความรอบรู้ ค่านิยมหรือความรู้สึกและการยอมรับในความสำคัญของผู้เกี่ยวข้องดังกล่าว ผู้บริหารจึงต้องมีวิธี และแนวทางในการตัดสินใจที่เหมาะสมกับเรื่องที่จะตัดสินใจ และสอดคล้องกับสถานการณ์ (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2523 : 17)   จากการศึกษารูปแบบการตัดสินใจ ผู้วิจัยพบว่าการตัดสินใจตามแนวคิดของ Vroom and Yetton (1988 : 184) เป็นการตัดสินใจที่มีคุณภาพสูง ทั้งยังเป็นลักษณะ   การตัดสินใจแบบกลุ่ม ที่อาศัยความคิดเห็นของบุคคลต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาที่ทำการตัดสินใจ ทำให้ได้มุมมองที่หลากหลายและได้แนวทางที่มีประสิทธิภาพสูงแต่อาจต้องใช้เวลาในการตัดสินใจ (กิตติ ภักดีวัฒนะกุล 2546 : 11-14) นอกจากนี้ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องมีความพร้อมที่จะยอมรับการตัดสินใจ และพร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติงาน
            ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาความสัมพันธ์ของความฉลาดทางอารมณ์กับพฤติกรรมการตัดสินใจในการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 ตามแนวคิดของกรมสุขภาพจิต ที่กล่าวว่าการรับรู้ เข้าใจและปรับอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม การมีความคิดสร้างสรรค์ ความไว้วางใจของบุคคล สามารถพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจในตนเอง สามารถปฏิบัติงานด้วยการตัดสินใจที่ดี ผลการศึกษาครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเป็นข้อมูลในการปรับปรุงและพัฒนาตนเองให้เป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จในอนาคต เป็นแนวทางสำหรับผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการเลือกวิธีการตัดสินใจให้เหมาะสมกับงานบริหารโรงเรียนแต่ละประเภทยิ่งขึ้น การตัดสินใจที่เหมาะสมจะทำให้ลดปัญหาความขัดแย้งในการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บริหารโรงเรียน รวมทั้งสามารถสร้างความสุขให้เกิดกับผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ตลอดจนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียนอันจะทำให้นักเรียนเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพ (ดี เก่ง สุข) ซึ่งส่งผลสู่ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติต่อไป

วัตถุประสงค์การวิจัย

                ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ตั้งวัตถุประสงค์ในการวิจัยไว้ดังนี้
         1) เพื่อศึกษาความฉลาดทางอารมณ์ของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3
         2) เพื่อศึกษาพฤติกรรมการตัดสินใจในการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3
     3) เพื่อเปรียบเทียบความฉลาดทางอารมณ์และพฤติกรรมการตัดสินใจในการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 โดยจำแนกตามเพศ ประสบการณ์ และขนาดโรงเรียน
      4) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาดทางอารมณ์และพฤติกรรมการตัดสินใจในการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3

ประชากรที่ใช้ในการวิจัย

            ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 ปีการศึกษา 2550 จำนวน 223 คน (สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 2549 : 1)

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย

            กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 จำนวน 144 คน ผู้วิจัยกำหนดขอบเขตของกลุ่มตัวอย่างด้วยการเทียบกับตารางสำเร็จรูปของ Krejcie และ Morgan (1970 : 607-610, อ้างถึงใน สิทธิ์ ธีรสรณ์ 2550 : 281) แล้วใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling)  ได้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจากโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 54 คน ขนาดกลาง จำนวน 54 คน และขนาดใหญ่ จำนวน 36 คน 

ตัวแปรที่ศึกษา 

                1. ตัวแปรต้น คือ เพศ ประสบการณ์ในการบริหาร และขนาดโรงเรียน
                2. ตัวแปรตาม คือ
                    2.1 ความฉลาดทางอารมณ์ แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ด้านดี ด้านเก่ง และด้านสุข
                    2.2 พฤติกรรมการตัดสินใจในการทำงาน ตามแนวคิดของ Vroom and Yetton (1988 : 184) แบ่งเป็น 5 ลักษณะ คือ (1) ผู้บริหารตัดสินใจด้วยตนเองด้วยข้อมูลที่มีอยู่ (2) ผู้บริหารตัดสินใจด้วยตนเอง โดยหาข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ใต้บังคับบัญชา (3) ผู้บริหารอภิปรายปัญหาร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นรายบุคคลแล้วพิจารณาตัดสินใจด้วยตนเอง(4) ผู้บริหารอภิปรายปัญหาร่วมกับกลุ่มผู้ใต้บังคับบัญชาแล้วพิจารณาตัดสินใจด้วยตนเอง โดยอาจจะยอมหรือไม่ยอมให้ความเห็นของกลุ่มมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ (5) ผู้บริหารประชุมอภิปรายปัญหาตลอดจนประเมินทางเลือกร่วมกับกลุ่มผู้ใต้บังคับบัญชา แล้วทำการตัดสินใจด้วยความเห็นสอดคล้องกัน

การสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

                ลักษณะของเครื่องมือ
                เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ มี 2 ประเภท คือ 
                1. แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์สำหรับประชาชนชาวไทย (12-60 ปี) ที่พัฒนาโดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จำนวนทั้งสิ้น 52 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นในด้านดี เก่ง สุข และภาพรวม คือ .75, .76, .81 และ .85 ตามลำดับ และค่าความเชื่อมั่นแบบแบ่งครึ่ง (Split-half Reliability) ในด้านดี เก่ง สุข และภาพรวม คือ .83, .86, .71 และ .84 ตามลำดับ (กรมสุขภาพจิต 2543 : 71)
                2. แบบสอบถามพฤติกรรมการตัดสินใจในการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเพื่อสอบถามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 เกี่ยวกับพฤติกรรมการตัดสินใจในการบริหาร โดยแบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ
                ตอนที่ 1 สอบถามสถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถามเป็นข้อมูลด้านเพศ ประสบการณ์ในการบริหาร และขนาดโรงเรียน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check list)
                ตอนที่ 2 สอบถามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมการตัดสินใจในการบริหารโดยใช้วิธีการตัดสินใจในการบริหารงานของสถานศึกษา 4 ด้าน คือ วิชาการ งบประมาณ บุคลากร และบริหารทั่วไป โดยใช้วิธีการตัดสินใจตามแนวคิดของ Vroom และ Yetton  
                การสร้างเครื่องมือ
            ในการสร้างเครื่องมือสำหรับการวิจัย ผู้วิจัยดำเนินการเป็นขั้นตอน ดังนี้
            1. ศึกษาเอกสาร งานวิจัย แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ และงานบริหารการศึกษา เพื่อนำมาสร้างแบบสอบถามให้ครอบคลุมเรื่องที่ศึกษา
            2. ศึกษาวิธีการสร้างแบบสอบถาม เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างแบบสอบถาม
            3. เสนอแบบสอบถามต่ออาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เพื่อตรวจสอบและเสนอแนะปรับปรุง
            4. ปรับปรุงแบบสอบถามตามคำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ นำแบบสอบถามที่ปรับปรุงแล้วเสนอผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 ท่าน ผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจสอบความถูกต้องและความเที่ยงตรงด้านเนื้อหา (Content validity) และวิเคราะห์ข้อคำถาม แก้ไขให้เหมาะสม ซึ่งผู้วิจัยได้เลือกข้อคำถามที่มีค่าตั้งแต่ .60 ขึ้นไป
            5. นำแบบสอบถามที่ปรับปรุงแล้วไปทดลองใช้ (Try out) กับผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 จำนวน 50 คน
            6. นำแบบสอบถามที่ได้รับคืนทั้ง 50 ฉบับมาตรวจสอบความสมบูรณ์ แล้วนำไปตรวจสอบให้คะแนนและหาความเชื่อมั่น (Reliability) โดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟา (Alpha Coefficient) มีค่าเท่ากับ .97 จำแนกเป็นรายด้าน คือ (1) งานวิชาการ มีค่าเท่ากับ .93 (2) งานงบประมาณ มีค่าเท่ากับ .91 (3) งานบุคคล มีค่าเท่ากับ .93 และ (4) งานบริหารทั่วไป มีค่าเท่ากับ .93
            7. จัดทำแบบสอบถามฉบับสมบูรณ์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยต่อไป

การเก็บรวบรวมข้อมูล

            ผู้วิจัยได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล ดังนี้
            1. ขอหนังสือแนะนำตัวผู้วิจัยและขอความร่วมมือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เพื่อขออนุญาตและขอความช่วยเหลือในการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง
            2. ผู้วิจัยประสานงานขอความอนุเคราะห์จากผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 ออกหนังสือขอความร่วมมือ พร้อมแนบแบบสอบถามส่งถึงผู้อำนวยการโรงเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง  
            3. การเก็บรวบรวมแบบสอบถามกลับคืน ผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นกลุ่มตัวอย่างจะส่งแบบสอบถามกลับคืนมายังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 ภายในวันที่แจ้งไว้ในแบบสอบถาม โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 รวบรวมแบบสอบถามไว้ให้ และผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลด้วยตนเองในบางส่วน
            4. ผู้วิจัยเดินทางไปเก็บแบบสอบถามกลับคืนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 ด้วยตนเอง แล้วนำแบบสอบถามที่ได้รับคืนทั้งหมดมาตรวจสอบและคัดเลือกเฉพาะฉบับที่สมบูรณ์ นำไปจัดกระทำและวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป

การวิเคราะห์ข้อมูล

            เมื่อรวบรวมข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลสำเร็จรูป SPSS for Windows (Statistical Package for the Social Science for Windows) (ชวนชัย เชื้อสาธุชน 2550; ชัชวาล เรืองประพันธ์ 2544; ฉัตรศิริ ปิยะพิมลสิทธิ์ 2548) ตามลำดับดังนี้
            1. ตรวจสอบความสมบูรณ์ของแบบสอบถาม เพื่อคัดเลือกเอาเฉพาะแบบสอบถามที่มีความสมบูรณ์ แล้วตรวจให้คะแนนแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์และพฤติกรรมการตัดสินใจในการบริหารของกลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์ที่กำหนด
            2. คำนวณค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์และพฤติกรรมการตัดสินใจในการบริหารตามตัวแปรตามที่ต้องการศึกษา คือ เพศ ประสบการณ์ในการบริหาร และขนาดโรงเรียน
            3. เปรียบเทียบค่าเฉลี่ย 2 กลุ่ม โดยใช้การทดสอบทีสำหรับกลุ่มตัวอย่างสองกลุ่มที่เป็นอิสระจากกัน (Independent – Samples t-test) เพื่อทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยของตัวแปรเพศและประสบการณ์ในการบริหาร
            4. เปรียบเทียบค่าเฉลี่ย 3 กลุ่ม คือ ขนาดโรงเรียนโดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-Way Analysis of Variance) 
            5. ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาดทางอารมณ์และพฤติกรรมการตัดสินใจในการบริหารของค่าสหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson product moment correlation) ด้วย t-test
 
สรุปผลการวิจัย

            ผลการวิเคราะห์ข้อมูลความฉลาดทางอารมณ์และพฤติกรรมการตัดสินใจในการบริหารงานของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน             ผลการวิจัยพบว่า
            1) ผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 มีความฉลาดทางอารมณ์อยู่ในระดับสูง และเมื่อจำแนกตามเพศ ประสบการณ์ในการบริหารและขนาดโรงเรียน พบว่า ความฉลาดทางอารมณ์อยู่ในระดับสูง  
                2) ผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 มีพฤติกรรมการตัดสินใจในการบริหารลักษณะที่ 4 และเมื่อจำแนกตามเพศ ประสบการณ์บริหารและขนาดโรงเรียน พบว่า มีพฤติกรรมการตัดสินใจโดยใช้ลักษณะที่ 4  
                3) ผลการเปรียบเทียบความฉลาดทางอารมณ์ ของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 โดยจำแนกตามเพศและประสบการณ์บริหาร แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อจำแนกตามขนาดโรงเรียน พบว่าไม่แตกต่างกัน และผลการเปรียบเทียบพฤติกรรมการตัดสินใจในการบริหาร ของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 โดยจำแนกตามเพศ ประสบการณ์บริหาร และขนาดโรงเรียน พบว่าไม่แตกต่างกัน  
                4) ความฉลาดทางอารมณ์และพฤติกรรมการตัดสินใจในการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (r) เท่ากับ .338  

ข้อเสนอแนะ

            จากผลการวิจัย ผู้วิจัยขอเสนอแนะดังต่อไปนี้
            1. ข้อเสนอแนะสำหรับการนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ 
               1.1 ผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานควรพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ด้านเก่งให้มากขึ้น เพื่อให้เป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จในอนาคต
               1.2 ผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานควรอภิปรายปัญหาร่วมกับกลุ่มผู้ใต้บังคับบัญชาให้มากขึ้น 
               1.3 ผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานควรพัฒนาตนเองให้มีความฉลาดทางอารมณ์ให้มากยิ่งขึ้น
            2. ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป
               2.1 ควรศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความฉลาดทางอารมณ์กับพฤติกรรมการตัดสินใจในการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษาอื่น
               2.2 ควรศึกษาปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเพิ่มเติม เช่น ความสามารถด้านความอดทนอดกลั้น (Adversity Quotient – AQ) ความฉลาดทางสังคม (Social Quotient – SQ)

กิตติกรรมประกาศ

วิทยานิพนธ์นี้สำเร็จได้ด้วยความอนุเคราะห์ของบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่อาจกล่าวได้ทั้งหมด ผู้มีพระคุณท่านแรกที่ผู้วิจัยใคร่ขอกราบขอบพระคุณอย่างยิ่ง คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ทองใบ สุดชารี ที่ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างดีโดยให้ความช่วยเหลือด้านวิจัย และให้คำปรึกษา แนะนำแง่คิดต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการวิจัยด้วยดีตลอด ท่านที่สองคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนอ ภิรมจิตรผ่อง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอีกท่านหนึ่งที่ได้เอาใจใส่ตรวจแก้วิทยานิพนธ์ให้สมบูรณ์ที่สุด และให้กำลังใจแก่ผู้วิจัยตลอดมา
นอกจากนี้ผู้วิจัยใคร่ขอกราบขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์ ดร.อัศวฤทธิ์ อุทัยรัตน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เชาวน์ประภา เชื้อสาธุชน อาจารย์ ดร.จิณณวัตร ปะโคทัง อาจารย์อภิสิทธิ์ บุญยา และอาจารย์ ดร.วิสุทธิ์ ราตรี ที่กรุณาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปรับปรุงเครื่องมือในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยขอกราบขอบพระคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์กาญจนา บุญรมย์ ที่เมตตาให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาในครั้งนี้ ผู้วิจัยขอกราบขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์ ดร.สมาน อัศวภูมิ ที่กรุณาเสียสละเวลามาเป็นประธานในการสอบวิทยานิพนธ์ และขอกราบขอบพระคุณ อาจารย์ประสาร สายแวว ที่กรุณาร่วมเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ในโอกาสนี้ด้วย
นอกจากนี้ผู้วิจัยขอกราบขอบพระคุณท่านผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 ที่ได้ให้ความร่วมมืออำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ขอขอบพระคุณเพื่อนร่วมงานทุกคนที่ให้การสนับสนุนและให้กำลังใจตลอดมา และขอขอบพระคุณผู้อำนวยการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้
ขอกราบขอบพระคุณคุณพ่อวิมลคุณแม่จรูญศรี นาสารี ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ และขอขอบคุณพี่น้อง ญาติมิตรทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ให้ความกรุณาช่วยเหลือในทุกด้านเกี่ยวกับการทำวิทยานิพนธ์ ในครั้งนี้

 เอกสารอ้างอิง

กิตติ ภักดีวัฒนะกุล.  คัมภีร์ระบบสนับสนุนการตัดสินใจและระบบผู้เชี่ยวชาญ (Decision Support Systems Expert 
        Systems).  กรุงเทพฯ: เคทีพี คอมพ์ แอนด์คอนซัลท์, 2546.
เขตพื้นที่การศึกษา อุบลราชธานี เขต 3, สำนักงาน.  ข้อมูลกลุ่มเครือข่ายจำแนกตามโรงเรียน ตำบล นักเรียน
        และครูออนไลน์) 2549 (อ้างเมื่อ 10 สิงหาคม 2550) จากhttp://www.ubon3.net.
ฉัตรศิริ ปิยะพิมลสิทธิ์.  การใช้ SPSS เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล. (ออนไลน์) 2548 (อ้างเมื่อ 5 กรกฎาคม 2551).                
        จาก http:www.watpon.com/spss
ชวนชัย เชื้อสาธุชน.  เอกสารประกอบการสอน รายวิชาวิทยาการวิจัย. หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการ
        ศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, 2550.
ชัชวาลย์ เรืองประพันธ์.  การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม SPSS for Windows.  ภาควิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์
        มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2544.
ทองใบ สุดชารี.  ทฤษฎีองค์การ: วิเคราะห์แนวความคิดทฤษฎี และการประยุกต์.  พิมพ์ครั้งที่ 7.  อุบลราชธานี : คณะ 
        บริหารธุรกิจและการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, 2548.
ธีระ รุญเจริญ.  ความเป็นมืออาชีพในการจัดและบริหารการศึกษายุคปฏิรูปการศึกษา.กรุงเทพฯ: ข้าวฟ่าง,  2550
ปฎิรูปการศึกษา, สำนักงาน.  รายงานเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการตาม
            พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542, กรุงเทพฯ : สำนักงานปฏิรูปการศึกษา, 2544.
ปองสิน วิเศษศรี. แนวคิดการบริหารการเปลี่ยนแปลงในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน”,การศึกษาไทย. 22 (กรกฎาคม 2549) : 26.
ปราชญา กล้าผจัญ และพอตา บุตรสุทธิวงศ์. การบริหารทรัพยากรมนุษย์. กรุงเทพฯ : ข้าวฟ่าง, 2550.
วัลลภ กันทรัพย์.  แนวคิดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2541.
วัลลภา อารีรัตน์.  “ปัญหาจริยธรรม : การตัดสินใจ”. ศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (วารสารออนไลน์)25(3/2545) :        
        14.
สมาน อัศวภูมิ.  การบริหารการศึกษาสมัยใหม่: แนวคิดทฤษฎี   และการปฏิบัติ. พิมพ์ครั้งที่ 2.  อุบลราชธานี:
                อุบลกิจออฟเซทการพิมพ์, 2549.
สาริณี ไกรสังเกต.  พฤติกรรมการตัดสินใจของผู้บริหารโรงเรียนเอกชนระดับมัธยมศึกษาในกรุงเทพมหานคร
        วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตร มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2544. 
สิทธิ์ ธีรสรณ์.  แนวคิดพื้นฐานทางการวิจัย. กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.
สุขภาพจิต,กรม.  คู่มือความฉลาดทางอารมณ์(ออนไลน์) 2543(อ้างเมื่อ 3 กรกฏาคม 2550) จาก
      http://www.watpon.com/test/emotional-           intelligence2.htm.
สุโขทัยธรรมาธิราช, มหาวิทยาลัย.  เอกสารการสอนชุดวิชา 23301 หลักและระบบบริหารการศึกษา เล่ม 1 หน่วยที่ 1-5. 
       นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2523.
Goleman, D.  Emotional Intelligence : Why it can matter  more than IQ. New York: Bantam Books, 1995.
Vroom, V. H.,and  A. G. Jago. The new leadership:Managing participation in organizations. Englewood Cliffs, NJ: Prentice Hall, 1988.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น