หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รูปแบบการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาของประเทศไทย(ตอน 2)


....และจากการศึกษาของ เกรียงศักดิ์    เจริญวงศ์ศักดิ์ (2551 : ออนไลน์) ถึงผลของการกระจายอำนาจการศึกษาในต่างประเทศ คือ 1) ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการกระจายอำนาจการศึกษาสู่ท้องถิ่น และ 2) ประเทศที่การกระจายอำนาจก่อเกิดปัญหา ดังรายละเอียด
1) ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการกระจายอำนาจการศึกษาสู่ท้องถิ่น ได้แก่ อังกฤษ แคนาดา สวีเดนและเดนมาร์ก
อังกฤษ: การเพิ่มคุณภาพการศึกษาและฉนวนป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง โดยมีหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนคือ องค์การบริหารการศึกษาท้องถิ่น ที่มีบทบาทกระตุ้นให้โรงเรียนยกระดับมาตรฐาน ทำหน้าที่เป็นเสมือนกระบอกเสียงให้กับผู้ปกครอง และแม้ว่าองค์กรนี้จะเป็นส่วนราชการ แต่มีลักษณะการดำเนินงานที่สามารถป้องกันการแทรกแซงจากภาคการเมืองสู่ภาคการศึกษา โดยพบว่าในอังกฤษ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือหน่วยงานจะเป็นไปแบบเพื่อนร่วมอุดมการณ์ การบริหารระหว่างหน่วยงานการศึกษาส่วนกลางและระดับท้องถิ่น และระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากับสถานศึกษา จะเป็นไปในลักษณะการควบคุม โดยกติกา (Law Enforcement Control) เช่น ระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมาย ฯลฯ ที่ทุกฝ่ายต้องเคารพปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ส่วนการบังคับบัญชาโดยการสั่งการ จะใช้เฉพาะการบริหารภายในหน่วยงานในท้องถิ่นเท่านั้น
แคนาดา: การพัฒนาผู้เรียนให้มีงานทำ แคนาดากระจายอำนาจให้มณฑล/เขตการปกครองดำเนินการเอง โดยผ่านคณะกรรมการการศึกษาของแต่ละเขตการปกครอง ซึ่งมีประมาณ 168 คณะ ปัจจุบันเป้าหมายสำคัญในการจัดการศึกษาที่มุ่งกระจายอำนาจบริหารการศึกษาสู่ท้องถิ่น คือเพื่อการแก้ปัญหาสภาพการว่างงานของแคนาดาที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องด้วยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ส่งผลให้สถานศึกษาในท้องถิ่น บริหารจัดการได้คล่องตัวและมีความเป็นอิสระ สามารถจัดการศึกษาและฝึกอบรมที่มุ่งให้คนมีงานทำได้มากขึ้น
สวีเดนและเดนมาร์ค: การเชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจชุมชน กระจายอำนาจการศึกษาโดยให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาที่เชื่อมต่อกับวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งอาชีพหลักของชุมชนต่าง ๆ คือการเกษตรที่เน้นการพึ่งพาตนเองและพัฒนาตามเอกลักษณ์ของชุมชนนั้น ๆ โดยให้แต่ละท้องถิ่นสามารถพัฒนาหลักสูตรได้อย่างหลากหลาย เชื่อมโยงวิทยาการสมัยใหม่กับสมัยเก่า และการเรียนรู้ร่วมกับสถานประกอบการ ชุมชน และภาคเอกชน ทำให้การจัดการศึกษาสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน และเป็นการสร้างคนป้อนเข้าสู่ชุมชน
2) ประเทศที่การกระจายอำนาจก่อเกิดปัญหา ได้แก่ เยอรมันนี สเปน นิวซีแลนด์ และบราซิล
เยอรมันนี: ความแตกต่างด้านมาตรฐานการศึกษาและเพิ่มงบจากส่วนกลาง มีการกระจายอำนาจทางการศึกษาให้กับแต่ละรัฐเป็นผู้บริหารและดูแลโรงเรียน แต่มีรายงานว่าปัจจุบันรัฐบาลกลางต้องสนับสนุนงบประมาณในการจัดการศึกษามากกว่าร้อยละ 70 ของงบประมาณสนับสนุนการศึกษาทั้งหมด มีการวิเคราะห์ว่า อาจเป็นเพราะสภาพการเป็นอิสระในการจัดการศึกษาของแต่ละรัฐที่ต่างกันออกไป ทำให้ประสบปัญหาเกี่ยวกับความต่างของมาตรฐานทางการศึกษา ปัจจุบันรัฐบาลกลางจึงได้ทุ่มงบประมาณสนับสนุนด้านการศึกษาที่มากขึ้นทุกปี เพื่อสร้างมาตรฐานการศึกษาของชาติขึ้นมา
สเปน: ความสั่นคลอนความมั่นคงและเสถียรภาพการปกครอง แม้มีการให้อิสระในการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างมาก แต่เนื่องจากสภาพการเป็นแคว้นอิสระต่าง ๆ ของสเปน จึงก่อให้เกิดปัญหาการจัดการศึกษาที่อาจจะส่งผลให้เกิดความสั่นคลอนความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลกลางอย่างมาก จนในที่สุดรัฐบาลได้พยายามหาวิธีการรวบอำนาจการศึกษากลับมายังส่วนกลางมากขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการศึกษาในการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมือง และการอยู่รวมเป็นชาติเดียวกัน
นิวซีแลนด์: ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาระหว่างชุมชนร่ำรวย-ยากจน มีการกระจายอำนาจการศึกษาไปสู่สถานศึกษาโดยตรง โดยผ่านคณะกรรมการบริหารโรงเรียน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ โรงเรียนในชุมชนร่ำรวยหรือปานกลาง ผู้ปกครองจะสนับสนุนช่วยเหลือโรงเรียนอย่างดี เพราะมีความพร้อมทั้งด้านการศึกษา ความคิด การเงินและให้ความสนใจผลการเรียนของเด็ก รวมถึงคณะกรรมการบริหารโรงเรียนมีความพร้อม อีกทั้งสภาพปัญหาการเรียนมีน้อย ในขณะที่โรงเรียนในชุมชนยากจน ผู้ปกครองมีความจำกัด คณะกรรมการมีศักยภาพน้อย ครูจำนวนมากไม่อยากไปสอนในโรงเรียนกลุ่มนี้ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ผู้บริหารสถานศึกษารับภาระหนักมากขึ้น จนต้องลาออกถึงร้อยละ 20 หลังปฏิรูปการศึกษา เกิดความไม่ทั่วถึงในการได้รับความช่วยเหลือด้านวิชาการจากรัฐ อีกทั้งการที่คณะกรรมการสถานศึกษามีอำนาจเต็มในการบริหารโรงเรียน หากการตัดสินใจอยู่บนพรรคพวกและอิทธิพล จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งและขาดการยอมรับจากผู้เกี่ยวข้องได้
บราซิล: ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพและโอกาสการศึกษาและการอพยพสู่เมือง บราซิลกระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้ท้องถิ่นจัดการ ด้วยงบประมาณที่รัฐจัดให้บางส่วนและให้ท้องถิ่นจัดหาเพิ่มเติม แต่พบว่า ท้องถิ่นที่ยากจนจะมีคุณภาพทางการศึกษาต่ำ งบไม่เพียงพอ ขาดแคลนครูและผู้บริหาร บางสถานศึกษาต้องปิดตัวลง ผู้เรียนต้องเดินทางไกลเพื่อไปเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ และทำให้ครอบครัวไม่ส่งเด็กเข้าโรงเรียน และการออกจากโรงเรียนกลางคัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหาเหล่านี้บ้างแล้ว โดยให้เงินสนับสนุนครอบครัวที่มีฐานะไม่ดี ที่มีลูกใน     วัยเรียน
กมล สุดประเสริฐ (2544 : 20-22) ได้ให้ข้อเสนอแนะว่ารูปแบบการบริหารและการจัดการศึกษาแบบกระจายอำนาจของไทย ควรเป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้มีกระทรวงศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ทำหน้าที่กำกับดูแล โดยลดภาระหน้าที่ในการบริหารจัดการศึกษาลง พร้อมโอนอำนาจหน้าที่ในการบริหารและจัดการศึกษาให้เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด โดยเขตพื้นที่การศึกษาควรจัดเป็นองค์การบริหารการศึกษาส่วนท้องถิ่นที่รัฐกำหนดขึ้นในแต่ละจังหวัด โดยรวมหน่วยงานการศึกษาของกระทรวงศึกษาที่มีอยู่แล้วในจังหวัดเข้าด้วยกัน และมีคณะกรรมการการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม (คศศว.) เขตพื้นที่พร้อมทั้งผู้อำนวยการเขต ทำหน้าที่บริหารและจัดการศึกษาตามที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ กำหนด เขตพื้นที่การศึกษาอาจมีจำนวนตมจำนวนจังหวัดทั้ง 75 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร
คณะกรรมการการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมชุดหนึ่งสามารถปฏิบัติงานให้เขตพื้นที่การศึกษาอื่นได้ด้วย โดยอาจพิจารณาให้เป็นเขตการศึกษาพิเศษหรือเขตพื้นที่การศึกษารวม (Unified School District) ไปก่อน ให้สอดคล้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดและมหานคร (กทม.) ทุกเขตพื้นที่การศึกษาเหล่านี้ต้องร่วมมือกับสถานศึกษาในการบริหารและจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งในด้านวิชาการ งานบุคคลและงบประมาณ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้มีคณะกรรมการการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมท้องถิ่น ในเทศบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นด้วย  
การกระจายอำนาจทางการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าหลายฝ่ายยังมีความเห็นไม่ตรงกัน และเกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากครู โดยเฉพาะประเด็นปัญหาในอดีต เมื่อครั้งที่การประถมศึกษาอยู่ภายใต้องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งครั้งนั้นครูไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม และเหมาะสมกับศักดิ์ศรีของวิชาชีพ รวมทั้งปัจจุบันที่ยังมีความไม่ไว้วางใจกันในเรื่องความพร้อม ความรู้ความเข้าใจ และความจริงใจที่จะรับโอน ทำให้การถ่ายโอนการศึกษาต้องหยุดชะงักไม่สามารถดำเนินการได้ตามกำหนด วรัยพร แสงนภาบวร  (2550 : ออนไลน์) กล่าวว่า เพื่อให้การถ่ายโอนการศึกษาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งนี้ เป็นไปด้วยความราบรื่นบนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ปราศจากปัญหาความขัดแย้งและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่การศึกษาของชาติ จึงมีประเด็นข้อเสนอแนะที่สำคัญ ๆ ดังนี้
          1) ต้องนำหลักการการกระจายอำนาจที่แท้จริง และถูกต้องมาเป็นหลักในการจัดระบบการกระจ่ายอำนาจ เช่น หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน หลักความเป็นมืออาชีพด้านการศึกษา หลักความเป็นอิสระในการตัดสินใจ หลักคุณประโยชน์ทางการศึกษาของผู้เรียน หลักธรรมาภิบาลในการจัดการศึกษา ฯลฯ เพื่อให้การศึกษาโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบโครงสร้างและกลไกที่มีมาตรฐานและประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้การศึกษาของชาติมีคุณภาพทัดทียมประเทศที่พัฒนาแล้ว
          2) ต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการการศึกษาขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการศึกษา สามารถอุทิศตนเพื่อการศึกษาของชาติ และเป็นที่ยอมรับนับถือของสังคม เพื่อให้การศึกษาเป็นอิสระจากฝ่ายปกครองและการเมืองโดยมีกฎหมายรองรับ เป็นการกระจายอำนาจสู่ประชาชนอย่างแท้จริง
          3) ควรเน้นการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา (School-Based Management) เพื่อให้การตัดสินใจไปอยู่ระดับที่ใกล้ชิดกับผู้เรียนมากที่สุด และสถานศึกษามีอิสระในการบริหารทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล
          4) มีระบบการบริหารงานบุคคล สำหรับครูบุคลากรทางการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นหลักประกันว่าครูและบุคลากรทางการศึกษา จะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ได้รับการดูแลที่ดีทั้งค่าตอบแทนและสวัสดิการต่าง ๆ รวมทั้งมีโอกาสในการมีส่วนร่วมตัดสินใจ ไม่ด้อยไปกว่าสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ได้รับอยู่เดิม
          5) มีระบบการบริหารงบประมาณ เพื่อการศึกษาที่มีประสิทธิภาพทั้งการระดม การจัดสรรและการใช้งบประมาณ อันจะก่อให้เกิดความเสมอภาพและเป็นธรรม รวมทั้งมีระบบการตรวจสอบความโปร่งใส เพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประโยชน์กับผู้เรียนมากที่สุด
          6) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดการศึกษาต้องให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาทุกรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนและการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยด้วย เพื่อส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตและสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้
          7) การศึกษาตัวอย่างประเทศที่ดำเนินการจนประสบความสำเร็จแล้ว และนำหลักการที่สำคัญมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการกระจายอำนาจทางการศึกษา สู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย เพื่อให้การบริหารและจัดการศึกษาโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย มีประสิทธิภาพ สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับคนไทยในท้องถิ่นต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง
จากการศึกษาแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจทางการศึกษาดังกล่าว ทำให้เห็นถึงความพยายามในการขับเคลื่อนนโยบายการกระจายอำนาจทางการศึกษาของหน่วยงานที่เป็นต้นสังกัด ประการหนึ่ง และทำให้ข้าพเจ้าเห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจทางการศึกษาตลอดจนเห็นแนวทางในการสร้างรูปแบบการกระจายอำนาจทางการศึกษาที่จะนำเสนอในลำดับต่อไป          แม้ว่าการกระจายอำนาจทางการศึกษาจะสอดคล้องกับลักษณะของยุคโลกาภิวัตน์และเป็นความจำเป็นในการบริหารยุคใหม่ก็ตาม หากผู้มีอำนาจเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องมากเกินไป อนาคตของประเทศไทยอาจจะไม่แตกต่างจากประเทศที่การกระจายอำนาจก่อเกิดปัญหา ได้แก่ เยอรมันนี สเปน นิวซีแลนด์ และบราซิล ดังได้กล่าวมาแล้ว
............................................................(มีต่อ).........................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น