หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รูปแบบการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาของประเทศไทย(ตอนที่ 1)


ด้วยความระลึกถึงพระคุณท่าน รศ.ดร.ทองใบ สุดชารี ผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้เมตตาพวกเรานักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อย่างยิ่ง และบทความฉบับนี้...เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดจากกิจกรรมการเรียนรู้ที่พระอาจารย์ได้สอนพวกเรา...อย่างตั้งใจ...ด้วยอุดมการณ์...

 รูปแบบการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาของประเทศไทย
  
...เมื่อพูดถึงความสำคัญของการศึกษาแล้ว เมื่อมานึกดูว่า
การศึกษาเป็นรากฐานของความมั่นคงและผาสุกของประเทศชาติ
ก็กลับมาคิดอีกอย่างหนึ่งว่า ที่บ้านเมืองจะมีความมั่นคงได้
ทุกคนแม้จะไม่ใช่ครู ก็ต้องช่วยกันในด้านการศึกษานี้
อีกอย่างหนึ่ง ทุกคนแม้จะเป็นฝ่ายการศึกษา
ก็ต้องมีหน้าที่ที่จะทำนุบำรุงให้บ้านเมืองมีความมั่นคง…”

พระบรมราโชวาท
เนื่องในโอกาสเสด็จฯทรงดนตรี
ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร
วันเสาร์ที่ 18 มีนาคม 2515

          จากพระบรมราโชวาท จะเห็นว่าในการจัดการศึกษา จำเป็นต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งนับว่าเป็นแนวทางหนึ่งในการปรับปรุงและเสริมสร้างการปฏิบัติงานในองค์การให้มีประสิทธิภาพและมีความเข้มแข็งยั่งยืน เนื่องจากการศึกษาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ทุกฝ่าย การรวมพลังจากบุคคลต่าง ๆ ในสังคม ร่วมแสดงความคิดและกำหนดทิศทางในการพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การศึกษาจึงไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกคนจะต้องช่วยกันในการพัฒนามนุษย์ออกไปสู่สังคมและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข (เมตต์ เมตต์การุณ์จิต 2547 : 48) ซึ่งการจัดการศึกษาที่พึงประสงค์ในยุคโลกาภิวัตน์ควรมีลักษณะ (1) เปิดห้องเรียนสู่โลกกว้างให้สิ่งรอบข้างเป็นครู (2) เปิดโลกทัศน์ของเด็กให้กว้าง ให้ทุกคนได้สังเกต ได้คิด ได้ถาม ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง จากสิ่งที่อยู่รอบตัว ให้ได้ยินกับหู ได้ดูกับตา และได้สัมผัสด้วยตัวเอง และ (3) ร่วมปลดปล่อยพลังสมองของผู้เรียนปฏิรูปการเรียนรู้ ผู้เรียนสำคัญที่สุด (ธีระ  รุญเจริญ 2550:38-39)  
ปัจจุบันเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในโลกอย่างมากในแทบทุกด้าน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต การศึกษาวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ของโลกจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์ รวมทั้งด้านการศึกษาด้วย การศึกษานับเป็นหัวใจของการพัฒนามนุษย์ การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาจึงได้รับความสนใจในหมู่นักวิชาการ เพื่อหาหนทางในการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาให้ดีขึ้น  (ปองสิน วิเศษศรี 2549 : 26) การคาดหวังที่จะให้การศึกษามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ แต่ทว่าระบบการศึกษาไทยไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เพราะความไม่พร้อมทั้งทางด้านปริมาณ(ประชาชนมีการศึกษาน้อย) ด้านคุณภาพการศึกษายังต่ำเมื่อเทียบกับนานาประเทศ ด้านความเสมอภาคและสิทธิทางการศึกษายังเหลื่อมล้ำกันมาก ตลอดจนยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ ประการสำคัญก็คือการบริหารและการจัดการศึกษามีลักษณะแบบรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นงานวิชาการ บุคลากร งบประมาณ ตลอดจนการบริหารทั่วไป นับว่าเป็นการสวนกับกระแสโลก (สำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) 2544 : 3) ในแวดวงการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การปฏิรูปการศึกษาซึ่งมีความมุ่งหมายที่จะจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี คนเก่ง มีความเมตตากรุณา และมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีพลังและประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการกระจายอำนาจและให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รวมทั้งเป็นไปตามหลักการของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ให้การจัดระบบโครงสร้างและกระบวนการจัดการศึกษาของไทยมีเอกภาพเชิงนโยบาย และมีความหลากหลายในทางปฏิบัติ มีการกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา เพื่อให้มีความคล่องตัว มีอิสระในการบริหารจัดการ โดยใช้หลักการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Based Management : SBM) เป็นการสร้างรากฐานและความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษา สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐานและสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับคำกล่าวของ ธีระ รุญเจริญ (2550 : 21) ที่กล่าวว่า การกระจายอำนาจในการบริหารเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา และสอดคล้องกับลักษณะของยุคโลกาภิวัตน์ และ สมาน อัศวภูมิ (2550 : 88) ที่กล่าวว่า การกระจายอำนาจการบริหารงานเป็นความจำเป็นในการบริหารยุคใหม่ ทั้งการบริหารงานองค์การของรัฐและเอกชน
ระบบการศึกษาไทย ได้มีแนวคิดของการกระจายอำนาจที่ผสมผสานกันในรูปของการแบ่งอำนาจและการให้อำนาจมาโดยตลอด แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ปรากฏว่า การนำนโยบายเป็นไปในรูปของการแบ่งอำนาจมากกว่าการให้อำนาจ และการกระจายอำนาจทางการศึกษาในรูปแบบให้อำนาจเป็นแต่เพียงการเข้าไปมีบทบาทอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในเอกสาร หลักฐานของทางราชการและเป็นแนวคิดในการกำหนดนโยบาย โดยในทางปฏิบัติกลับปรากฏรูปแบบการบริหารการศึกษาตามแนวคิดของการกระจายอำนาจแบบแบ่งอำนาจ (deconcentralization) และการมอบอำนาจ (delegation) อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่า อันแสดงถึง การกระจายอำนาจให้ข้าราชการในสังกัด       (ภานุวัฒน์ ภักดีวงศ์ 2540 อ้างใน วิสุทธิ์ วิจิตรพัชราภรณ์ 2550 : 1) การกระจายอำนาจการบริหารการศึกษา เป็นการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบในการตัดสินใจทางการบริหารการศึกษาจากส่วนกลางไปยังระดับล่างหรือระดับปฏิบัติ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนในท้องถิ่น หน่วยงานและสถานศึกษา (ธีระ รุญเจริญ 2545 : 50) เป็นการโอนอำนาจหน้าที่ในด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป ไปยังระดับเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะต้องสอดคล้องตามเจตนารมณ์ที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติบัญญัติไว้ (เมตต์ เมตต์การุณ์จิต 2547 : 192)
จากการศึกษาของสภาการศึกษา (2546 อ้างใน ธีระ รุญเจริญ 2550 : 12-13) ได้เสนอข้อสรุปการอภิปรายเรื่อง การบริหารแบบกระจายอำนาจ โรงเรียนพร้อมหรือยัง ซึ่งผลอภิปรายมีดังนี้
1) ความต้องการของสถานศึกษาในเรื่องการกระจายอำนาจ คือ ขอให้หน่วยงานต้นสังกัดมอบความไว้วางใจ และเชื่อมั่นว่าโรงเรียนสามารถบริหารจัดการในเรื่องวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคลากร และการบริหารทั่วไปได้ นอกจากนี้ควรปรับปรุงระเบียบกฎหมายที่ล้าสมัย เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้สถานศึกษาขาดความเป็นอิสระและความคล่องตัวในการบริหารจัดการด้วยตนเอง
2) ความพร้อมของสถานศึกษาในการรองรับการกระจายอำนาจ คือ (1) สถานศึกษาส่วนใหญ่รับรู้แล้วว่าหากมีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จะทำให้สามารถจัดการศึกษาได้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและชุมชน มีความฉับไว และทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น (2) สถานศึกษาส่วนใหญ่ได้เริ่มลงมือปฏิบัติในการเตรียมการรองรับการกระจายอำนาจ เช่น การนำกระบวนการจัดทำงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน (PBB) มาใช้ในการบริหารจัดการโดยเน้นการมีส่วนร่วม การบริหารโดยองค์คณะบุคคล การประกันคุณภาพ และการตรวจสอบการใช้งบประมาณ เป็นต้น และมีสถานศึกษาจำนวนหนึ่งสามารถดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว และ (3) สถานศึกษามีความพร้อมในการรองรับการกระจายอำนาจในเรื่องการบริหารวิชาการและการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ยังไม่มีความพร้อมในเรื่องการบริหารบุคลากร และการบริหารงบประมาณ เนื่องจากยังมีกฎระเบียบจากส่วนกลางมากเกินไป และส่วนหนึ่งเคยชินกับวัฒนธรรมแบบรวบอำนาจและการสั่งการมานาน คิดสร้างสรรค์ด้วยตนเองไม่เป็น
3) ปัจจัยที่ทำให้สถานศึกษามีความพร้อมในการรองรับการกระจายอำนาจ คือ (1) ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการโดยองค์คณะบุคคล และการมีส่วนร่วมของกรรมการสถานศึกษา เครือข่ายพ่อแม่ ผู้ปกครอง (2) การพัฒนาทีมงานภายในโรงเรียน ให้มีความรู้ ความสามารถ ทัศนคติที่ถูกต้อง ในการบริหารจัดการเพื่อรองรับการกระจายอำนาจ (3) ระบบต่าง ๆ ภายในโรงเรียนต้องมีความพร้อม และมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ระบบข้อมูล ระบบประกันคุณภาพ ระบบจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น (4) การรวมพลังของสถานศึกษาในลักษณะเครือข่าย ไม่ใช่อยู่อย่างโดดเดี่ยว เพื่อให้สถานศึกษาต่าง ๆ ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการปฏิรูป ก้าวเดินไปพร้อมกันและภาคภูมิใจในความสำเร็จร่วมกัน และ (5) ผู้บริหารสถานศึกษาต้องกล้าคิดด้วยตนเอง ไม่ใช่แค่รอคำสั่ง ต้องมีความกล้าหาญในเชิงจริยธรรม เพื่อให้ได้รับความเชื่อถือ ศรัทธาจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย มีคุณธรรม ยุติธรรม และมีความโปร่งใส ไม่บริหารแบบรวบอำนาจในลักษณะอำนาจนิยม เป็นนักประสานที่ดี คิดกว้าง มองไกล เป็นผู้นำด้านการวิเคราะห์ และเข้าใจสภาพบริบทของตนเองได้ชัดเจน มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการบริหารจัดการศึกษาโดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ
สอดคล้องกับ ธีระ รุญเจริญ (2550 : 17) ที่กล่าวว่า การกระจายอำนาจการบริหารการศึกษาจะเกิดประสิทธิผลย่อมต้องอาศัยบุคลากรที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายในการนำระบบมาสู่การปฏิบัติ ซึ่งต้องอาศัยเงื่อนไขหลายประการ เช่น 1) การอาศัยการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงภาวะผู้นำ การกระจายอำนาจ โดยอาศัยแรงผลักดันอย่างเป็นระบบ 2) การอาศัยนโยบายของฝ่ายบริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการอย่างต่อเนื่องและชัดเจน ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงเมื่อเปลี่ยนผู้บริหาร 3) การอาศัย    จิตวิญญาณภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง การกระจายอำนาจของบุคลากรทุกระดับ 4) การอาศัยหลัก     ธรรมาภิบาลในการบริหาร 5) การสร้างทุกระดับขององค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และ 6) การนำหลักประชาธิปไตยมาใช้อย่างแท้จริง
สำนักนโยบายและแผนการศึกษาสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ดำเนินโครงการ "วิจัยการกระจายอำนาจทางการศึกษา" เพื่อศึกษารูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษาในการกระจายอำนาจด้านวิชาการ ด้านงบประมาณและด้านการบริหารงานบุคคลของ 8 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมทั้งได้มีการสังเคราะห์งานวิจัยดังกล่าว เพื่อเสนอนโยบาย เกี่ยวกับรูปแบบการกระจายอำนาจทางการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้   (วรัยพร แสงนภาบวร  2550 : ออนไลน์)
 การบริหารระดับกระทรวง การวิจัย พบว่าทั้ง 8 ประเทศมีกระทรวงศึกษาฯ ซึ่งแต่ละประเทศใช้ชื่อ Ministry of Education (แต่ก็อาจจะรวมภารกิจด้านอื่นๆ ด้วย เช่น วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม กีฬา การทำงาน เป็นต้น) เพียงกระทรวงเดียวที่เป็นกระทรวงหลักในการจัดการศึกษาของชาติโดยมีบทบาทในการกำหนดนโยบายควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน ติดตามประเมินผล และสนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา
การบริหารระดับท้องถิ่น ประเทศที่มีรูปแบบการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างชัดเจน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น และในการบริหารการศึกษาระดับท้องถิ่นของประเทศเหล่านี้  มีคณะกรรมการการศึกษา (Board of Education) ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการศึกษา สามารถอุทิศเวลาได้อย่างเต็มที่และเป็นที่ยอมรับนับถือของสังคม เป็นองค์คณะบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจโดยมีกฎหมายรองรับให้คณะกรรมการการศึกษาดังกล่าวมีความเป็นอิสระ (Autonomy) ในการบริหารทั้งด้านงบประมาณวิชาการ และการบริหารงานบุคคล เป็นอิสระจากฝ่ายปกครอง และปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง นอกจากนี้ คณะกรรมการการศึกษาดังกล่าวยังมีแหล่งรายได้ เพื่อจัดการศึกษาที่แน่นอนอีกด้วย
การบริหารระดับสถานศึกษา ประเทศที่มีการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาโดยตรงเพื่อให้โรงเรียน มีอิสระในการบริหารตนเอง (Self-Managing School) ได้แก่ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยมีคณะกรรมการสถานศึกษา (School Council) เป็นองค์คณะบุคคลที่มีอำนาจในการตัดสินใจสูงสุด และแม้แต่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเคยกระจายอำนาจสู่องค์กรบริหารการศึกษาท้องถิ่น (Local Education Authority-LEA) ก็ได้เปลี่ยนเป็นกระจายอำนาจจากกระทรวงสู่สถานศึกษาโดยตรงไม่ต้องผ่านท้องถิ่น โดยมีคณะกรรมการสถานศึกษา (Board of Governors) เป็นองค์คณะบุคคลผู้ทำหน้าที่บริหารและจัดการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศสหรัฐอเมริกาก็เน้นการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา ให้บริหารโดยโรงเรียนเป็นฐาน (School-Based Management) ตลอดจนส่งเสริมให้โรงเรียนมีอิสระมากขึ้น ในรูปแบบโรงเรียนในกำกับ (Charter School) ส่วนประเทศมาเลเซียและฝรั่งเศสมีการกระจายอำนาจน้อยกว่าประเทศอื่นๆ แต่ก็ให้อิสระแก่สถานศึกษามากขึ้นเช่นกัน
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงกับท้องถิ่นและสถานศึกษานั้น ส่วนใหญ่จะเป็นความสัมพันธ์แบบเกื้อกูล ในลักษณะให้ความช่วยเหลือและคำปรึกษาแนะนำ ไม่ใช้ความสัมพันธ์แบบควบคุมหรือสั่งการ โดยส่วนกลางสามารถให้การสนับสนุนด้านทรัพยากร สำหรับโครงการพิเศษ หรือเพื่อควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน เช่น กรณีประเทศญี่ปุ่น กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครอง                     ส่วนท้องถิ่นร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ตามที่กฎหมายกำหนด และกระทรวงมีอำนาจขอให้คณะกรรมการการศึกษาทุกแห่ง เสนอรายงานสถิติข้อมูลเพื่อจัดทำสถิติการศึกษา ตลอดจนจัดทำแผนและนโยบายการพัฒนาการศึกษาในภาพรวมของประเทศ
การกระจายอำนาจและความรับผิดชอบด้านการศึกษา งานวิจัยพบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศต่างๆ สามารถร่วมรับผิดชอบภารกิจในการจัดการศึกษาได้ทุกรูปแบบ ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้แต่ละท้องถิ่นมีการจัดการศึกษาตลอดชีวิตอย่างทั่วถึง แม้แต่ประเทศมาเลเซียที่ยังค่อนข้างรวมอำนาจก็มีกำหนดให้มี Mini Ministry ในแต่ละรัฐที่มีอำนาจเช่นเดียวกับส่วนกลาง
นอกจากนี้ บางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ยังมีการแบ่งภารกิจอย่างชัดเจนตามระดับขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดให้เทศบาลจัดการศึกษาภาคบังคับและองค์การบริหารส่วนจังหวัดรับผิดชอบการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและการศึกษาพิเศษ เป็นต้น
การกระจายอำนาจด้านงบประมาณ พบว่า ประเทศที่กระจายอำนาจสู่สถานศึกษาโดยตรง เช่น ออสเตรเลีย จะจัดสรรงบประมาณร้อยละ 94 เป็นเงินอุดหนุนให้สถานศึกษามีอิสระในการบริหารอย่างเต็มที่ บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา กำหนดให้รัฐบาลท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณ เพื่อการศึกษาเองทั้งหมด ด้วยงบประมาณที่ได้จากภาษีโรงเรือนและที่ดินของท้องถิ่น (Property Tax) บางประเทศก็กำหนดให้รัฐบาลกลางร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทางการศึกษาด้วย เช่น ญี่ปุ่น กำหนดให้รัฐบาลกลางรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือนครู ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง
นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่าหลายประเทศ เช่น อังกฤษ และญี่ปุ่น มีกลไกการจัดสรรงบประมาณโดยคำนึงถึงความเป็นธรรม (Fair Funding) พิจารณาความต้องการและความจำเป็นของผู้เรียนสภาพบริบทของโรงเรียน ฯลฯ ทำให้ผู้เรียนทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้เรียนประเภทใด หรืออยู่ส่วนไหนของประเทศก็มีสิทธิได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน
กระจายอำนาจด้านการบริหารงานบุคคลนั้น ประเทศที่มีการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นกำหนดให้ครูเป็นบุคลากรสังกัดองค์กรปกครอง                ส่วนท้องถิ่น แต่ถึงแม้ครูจะสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ตาม อำนาจเต็มในการบริหารงานบุคคล ตั้งแต่การสรรหา แต่งตั้ง การพัฒนาวิชาชีพ การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ การจ่ายค่าตอบแทน และการพิจารณาความดีความชอบก็เป็นของคณะกรรมการการศึกษา ไม่ใช่อำนาจของฝ่ายปกครอง คณะกรรมการการศึกษาจัดให้มีระบบการพัฒนาครูอย่างเข้มข้น เพื่อให้ครูได้รับความรู้ใหม่ๆตลอดเวลา รวมทั้งมีระบบการดูแลให้ครูได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการต่างๆ ที่เหมาะสมกับศักดิ์ศรีความเป็นวิชาชีพชั้นสูง
ส่วนประเทศที่กระจายอำนาจสู่สถานศึกษาโดยโรงเรียนเป็นฐาน (School-Based Management) กำหนดให้คณะกรรมการสถานศึกษามีอิสระในการสรรหาและแต่งตั้งผู้บริหารสถานศึกษาได้เอง และผู้บริหารสถานศึกษาร่วมกับกรรมการสถานศึกษาดำเนินการคัดเลือกครู รวมทั้งบริหารงานบุคคลทั้งระบบได้เองโดยอิสระ
การกระจายอำนาจด้านวิชาการและหลักสูตร ทุกประเทศมีการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ มีการปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ประเทศนิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และอังกฤษ มีการกำหนดหลักสูตรแห่งชาติ เพื่อควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของประเทศในภาพรวม แต่ทุกประเทศก็มีทิศทางการกระจายอำนาจที่ให้อิสระแก่สถานศึกษาในการปรับรูปแบบการเรียนการสอนและเนื้อหาให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และมีการประเมินผลสัมฤทธิ์เพื่อควบคุมคุณภาพและมาตรฐานทั้งในรูปแบบการประเมินภายในและการประเมินภายนอก
หลักการในการกระจายอำนาจทางการศึกษา จากการสังเคราะห์งานศึกษาวิจัยดังกล่าวพบว่า การกระจายอำนาจทางการศึกษาของทุกประเทศยึดหลักการสำคัญๆ ของการกระจายอำนาจ ได้แก่ หลักการมีส่วนร่วม หลักความเป็นประชาธิปไตย หลักความเป็นกลางทางการเมือง หลักความเป็นมืออาชีพ หลักคุณประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน หลักความเสมอภาคและเป็นธรรม หลักคุณภาพและประสิทธิภาพ และหลักธรรมาภิบาล ทำให้การบริหารและจัดการศึกษาดำเนินไปบนฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน มีระบบการตรวจสอบความโปร่งใส และยึดประโยชน์สูงสุดของผู้เรียนเป็นที่ตั้ง
...................................................... (โปรดติดตามตอนต่อไป).....................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น