หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รูปแบบการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาของประเทศไทย(ตอน 3)


...การกระจายอำนาจเป็นการบริหารการศึกษาอีกแบบหนึ่งที่จะช่วยให้สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน โดยมีผู้ส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสถานศึกษา ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตรงตามความต้องการของชุมชน เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข ซึ่งข้าพเจ้าเห็นด้วยกับแนวคิดของ กมล สุดประเสริฐ ที่กล่าวว่า ...รูปแบบการบริหารและการจัดการศึกษาแบบกระจายอำนาจของไทย ควรเป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้มีกระทรวงศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ทำหน้าที่กำกับดูแล โดยลดภาระหน้าที่ในการบริหารจัดการศึกษาลง พร้อมโอนอำนาจหน้าที่ในการบริหารและจัดการศึกษาให้เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด โดยเขตพื้นที่การศึกษาควรจัดเป็นองค์การบริหารการศึกษาส่วนท้องถิ่นที่รัฐกำหนดขึ้นในแต่ละจังหวัด…”  โดยมีลักษณะเป็น หน่วยงานบริการรูปแบบพิเศษ (service Delivery Unit : SDU)เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช้ส่วนราชการ ซึ่งได้รับการจัดตั้งเพื่อให้บริการแก่หน่วยงานต้นสังกัด ส่วนราชการอื่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ/หรือประชาชน โดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหารายได้(กำไร) และนำส่งรายได้เข้ารัฐโดยตรงหรือจำเป็นต้องเลี้ยงตัวเองได้เป็นสำคัญ (Full cost recovery) (ชัยรัตน์ หลายวัชระกุล 2549 : 37) ซึ่งข้าพเจ้าขอเรียกเล่น ๆ ว่า “SDU ทางการศึกษาและในการบริหารจัดการในสถานศึกษาแต่ละแห่งที่มีความแตกต่างกันไปตามบริบทแวดล้อมที่เป็นอยู่ และความต้องการของสถานศึกษาก็แตกต่างกันด้วยทำให้การนำแนวคิดการบริหารแบบการใช้โรงเรียนเป็นฐานมาใช้แตกต่างกัน ซึ่งมีรูปแบบที่ อุทัย บุญประเสริฐ (2544 อ้างใน ธีระ รุญเจริญ 2550 : 163) ได้เสนอไว้มี 4 รูปแบบ คือ 1)  รูปแบบการบริหารโดยใช้ชุมชนเป็นหลัก 2) รูปแบบบริหารโดยใช้ผู้บริหารโรงเรียนเป็นหลัก 3) รูปแบบบริหารโดยเป็นโรงเรียนในกำกับ (Charter School) และ 4) รูปแบบบริหารแบบเอกชน ซึ่งการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานทำให้โรงเรียนมีอำนาจมากขึ้นในการตัดสินใจและต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อ : 1) การวางแผนพัฒนาโรงเรียน 2) การจัดการเรียนการสอนและพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน 3) การพัฒนาบุคลากร และ 4) การจัดการการเงินและงบประมาณ
เมื่อพิจารณาภารกิจของโรงเรียนแล้วจะเห็นได้ว่า โรงเรียนมีภารกิจหลักคือ การจัดการศึกษาและการบริหาร ซึ่งต้องใช้กระบวนการและปัจจัยจึงจะบรรลุผล ในกระบวนการจะอาศัยทั้งผู้บริหารโรงเรียนและครู ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องมีศักยภาพหลายด้าน จึงจะนำโรงเรียนประสบความสำเร็จ ดังที่ ธีระ      รุญเจริญ (2550:1-2) ได้กล่าวว่าผู้บริหารสถานศึกษาเป็นบุคลากรหลักที่สำคัญของสถานศึกษาและเป็นผู้นำวิชาชีพที่จะต้องมีสมรรถนะ ความรู้ ความสามารถ และคุณธรรม จริยธรรม ตลอดทั้งจรรยาบรรณวิชาชีพที่ดี จึงจะนำไปสู่การจัดและการบริหารสถานศึกษาที่ดี มีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ กล่าวคือ
1.ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ตลอดทั้งแนวทางการปฏิรูปการศึกษาเกี่ยวกับ (1) ผลการจัดและปัญหาการจัดการศึกษาที่ผ่านมาในด้านต่าง ๆ (2) ผลการประเมินคุณภาพภายนอก (3) แผนการศึกษาแห่งชาติ (4) ยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ (5) นโยบายของกระทรวงศึกษาของสำนักงานที่เกี่ยวข้อง (6) แนวภารกิจของสถานศึกษาที่กำหนดไว้ (7) แนวการบริหารและจัดการศึกษา (8) ความเป็นมืออาชีพในการบริหารการศึกษา และ (9) แนวทางการปฏิรูปการศึกษา
2.  ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา ทั้งการประกันคุณภาพภายในและการประกันคุณภาพภายนอก ตลอดทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรฐานการศึกษาของชาติ มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นบานเพื่อประเมินภายนอก
3. ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีสมรรถนะในการจัดการศึกษา และการบริหารการศึกษาในด้านต่าง ๆ ด้วยความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง กล่าวคือ จะต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อยตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพตามข้อบังคับของคุรุสภา
4. ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีภาวะผู้นำที่เอื้อต่อการบริหารและจัดการศึกษาในยุคนี้ โดยเฉพาะภาวะผู้นำทางวิชาการและภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง
5. ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีความรู้ ความสามารถในการบริหารฐานโรงเรียน (SBM) ตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ.2547 และสามารถนำหลักธรรมมาภิบาลมาใช้ในการบริหารและการจัดการศึกษา รวมทั้งสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานและตัวบ่งชี้การบริหารฐานโรงเรียนตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาพัฒนาไว้
          6. ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีความสามารถทำให้โรงเรียนเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง และจะต้องให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) และการพัฒนาสมองเพื่อการเรียนรู้ (Brain-based Learning Development: BBL)
          7. ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการจัดชั้นและการจัดโรงเรียนในกระบวนการเรียนการสอน เพื่อจะเลือกใช้และนำไปสู่วัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
          8. ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในแนวคิด หลักการและการจัดทำหลักสูตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา และจะต้องมีความเข้าใจและสามารถส่งเสริมการเรียนการสอน โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
          9. ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการวิจัยในโรงเรียน ทั้งการวิจัยและการพัฒนาในกระบวนการบริหารและกระบวนการจัดการเรียนการสอน ตลอดทั้งการส่งเสริมการใช้กระบวนการตรวจวิจัยในการเรียนรู้ของนักเรียน
ซึ่งในการวางแผนและควบคุมการปฏิบัติงานต่าง ๆ ผู้บริหารจะต้องมีเทคนิคในการบริหารโดยใช้เครื่องมือ วิธีการ และวิธีปฏิบัติในการนิเทศ แนะแนวและจูงใจบุคลากรให้ปฏิบัติงานให้ได้ผลดี ดังนั้น ผู้บริหารการศึกษานับว่าเป็นบุคลากรที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการที่จะบริหารสถาบันการศึกษา ให้ประสบความสำเร็จ ผู้บริหารที่ดีต้องเป็นบุคคลคุณภาพ สามารถที่จะเป็นผู้นำ เป็นที่รัก เคารพยำเกรงของผู้ใต้บังคับบัญชาและของบุคคลรอบด้านได้ นอกจากนี้ต้องมีทักษะทางสังคมที่ดี ไม่ว่าในด้านการแสดงออก ทางด้านการสื่อสารกับผู้อื่น การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี การตัดสินใจและแก้ปัญหาด้วยข้อมูลที่เป็นจริงมีเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์หรือสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งมีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็น ตลอดทั้งยังมีความภูมิใจในตนเองและทำงานได้อย่างมีความสุขจึงจะช่วยให้สถานศึกษาแห่งนั้นมีความเจริญก้าวหน้าไปด้วยดี หรืออาจกล่าวได้ว่าสถานศึกษาแห่งนั้นจะต้องมีผู้นำที่เก่งในการบริหารคนและบริหารตนนั่นเอง 
....................................................................(มีต่อ)................................................................................

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รูปแบบการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาของประเทศไทย(ตอน 2)


....และจากการศึกษาของ เกรียงศักดิ์    เจริญวงศ์ศักดิ์ (2551 : ออนไลน์) ถึงผลของการกระจายอำนาจการศึกษาในต่างประเทศ คือ 1) ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการกระจายอำนาจการศึกษาสู่ท้องถิ่น และ 2) ประเทศที่การกระจายอำนาจก่อเกิดปัญหา ดังรายละเอียด
1) ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการกระจายอำนาจการศึกษาสู่ท้องถิ่น ได้แก่ อังกฤษ แคนาดา สวีเดนและเดนมาร์ก
อังกฤษ: การเพิ่มคุณภาพการศึกษาและฉนวนป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง โดยมีหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนคือ องค์การบริหารการศึกษาท้องถิ่น ที่มีบทบาทกระตุ้นให้โรงเรียนยกระดับมาตรฐาน ทำหน้าที่เป็นเสมือนกระบอกเสียงให้กับผู้ปกครอง และแม้ว่าองค์กรนี้จะเป็นส่วนราชการ แต่มีลักษณะการดำเนินงานที่สามารถป้องกันการแทรกแซงจากภาคการเมืองสู่ภาคการศึกษา โดยพบว่าในอังกฤษ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือหน่วยงานจะเป็นไปแบบเพื่อนร่วมอุดมการณ์ การบริหารระหว่างหน่วยงานการศึกษาส่วนกลางและระดับท้องถิ่น และระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากับสถานศึกษา จะเป็นไปในลักษณะการควบคุม โดยกติกา (Law Enforcement Control) เช่น ระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมาย ฯลฯ ที่ทุกฝ่ายต้องเคารพปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ส่วนการบังคับบัญชาโดยการสั่งการ จะใช้เฉพาะการบริหารภายในหน่วยงานในท้องถิ่นเท่านั้น
แคนาดา: การพัฒนาผู้เรียนให้มีงานทำ แคนาดากระจายอำนาจให้มณฑล/เขตการปกครองดำเนินการเอง โดยผ่านคณะกรรมการการศึกษาของแต่ละเขตการปกครอง ซึ่งมีประมาณ 168 คณะ ปัจจุบันเป้าหมายสำคัญในการจัดการศึกษาที่มุ่งกระจายอำนาจบริหารการศึกษาสู่ท้องถิ่น คือเพื่อการแก้ปัญหาสภาพการว่างงานของแคนาดาที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องด้วยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ส่งผลให้สถานศึกษาในท้องถิ่น บริหารจัดการได้คล่องตัวและมีความเป็นอิสระ สามารถจัดการศึกษาและฝึกอบรมที่มุ่งให้คนมีงานทำได้มากขึ้น
สวีเดนและเดนมาร์ค: การเชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจชุมชน กระจายอำนาจการศึกษาโดยให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาที่เชื่อมต่อกับวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งอาชีพหลักของชุมชนต่าง ๆ คือการเกษตรที่เน้นการพึ่งพาตนเองและพัฒนาตามเอกลักษณ์ของชุมชนนั้น ๆ โดยให้แต่ละท้องถิ่นสามารถพัฒนาหลักสูตรได้อย่างหลากหลาย เชื่อมโยงวิทยาการสมัยใหม่กับสมัยเก่า และการเรียนรู้ร่วมกับสถานประกอบการ ชุมชน และภาคเอกชน ทำให้การจัดการศึกษาสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน และเป็นการสร้างคนป้อนเข้าสู่ชุมชน
2) ประเทศที่การกระจายอำนาจก่อเกิดปัญหา ได้แก่ เยอรมันนี สเปน นิวซีแลนด์ และบราซิล
เยอรมันนี: ความแตกต่างด้านมาตรฐานการศึกษาและเพิ่มงบจากส่วนกลาง มีการกระจายอำนาจทางการศึกษาให้กับแต่ละรัฐเป็นผู้บริหารและดูแลโรงเรียน แต่มีรายงานว่าปัจจุบันรัฐบาลกลางต้องสนับสนุนงบประมาณในการจัดการศึกษามากกว่าร้อยละ 70 ของงบประมาณสนับสนุนการศึกษาทั้งหมด มีการวิเคราะห์ว่า อาจเป็นเพราะสภาพการเป็นอิสระในการจัดการศึกษาของแต่ละรัฐที่ต่างกันออกไป ทำให้ประสบปัญหาเกี่ยวกับความต่างของมาตรฐานทางการศึกษา ปัจจุบันรัฐบาลกลางจึงได้ทุ่มงบประมาณสนับสนุนด้านการศึกษาที่มากขึ้นทุกปี เพื่อสร้างมาตรฐานการศึกษาของชาติขึ้นมา
สเปน: ความสั่นคลอนความมั่นคงและเสถียรภาพการปกครอง แม้มีการให้อิสระในการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างมาก แต่เนื่องจากสภาพการเป็นแคว้นอิสระต่าง ๆ ของสเปน จึงก่อให้เกิดปัญหาการจัดการศึกษาที่อาจจะส่งผลให้เกิดความสั่นคลอนความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลกลางอย่างมาก จนในที่สุดรัฐบาลได้พยายามหาวิธีการรวบอำนาจการศึกษากลับมายังส่วนกลางมากขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการศึกษาในการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมือง และการอยู่รวมเป็นชาติเดียวกัน
นิวซีแลนด์: ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาระหว่างชุมชนร่ำรวย-ยากจน มีการกระจายอำนาจการศึกษาไปสู่สถานศึกษาโดยตรง โดยผ่านคณะกรรมการบริหารโรงเรียน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ โรงเรียนในชุมชนร่ำรวยหรือปานกลาง ผู้ปกครองจะสนับสนุนช่วยเหลือโรงเรียนอย่างดี เพราะมีความพร้อมทั้งด้านการศึกษา ความคิด การเงินและให้ความสนใจผลการเรียนของเด็ก รวมถึงคณะกรรมการบริหารโรงเรียนมีความพร้อม อีกทั้งสภาพปัญหาการเรียนมีน้อย ในขณะที่โรงเรียนในชุมชนยากจน ผู้ปกครองมีความจำกัด คณะกรรมการมีศักยภาพน้อย ครูจำนวนมากไม่อยากไปสอนในโรงเรียนกลุ่มนี้ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ผู้บริหารสถานศึกษารับภาระหนักมากขึ้น จนต้องลาออกถึงร้อยละ 20 หลังปฏิรูปการศึกษา เกิดความไม่ทั่วถึงในการได้รับความช่วยเหลือด้านวิชาการจากรัฐ อีกทั้งการที่คณะกรรมการสถานศึกษามีอำนาจเต็มในการบริหารโรงเรียน หากการตัดสินใจอยู่บนพรรคพวกและอิทธิพล จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งและขาดการยอมรับจากผู้เกี่ยวข้องได้
บราซิล: ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพและโอกาสการศึกษาและการอพยพสู่เมือง บราซิลกระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้ท้องถิ่นจัดการ ด้วยงบประมาณที่รัฐจัดให้บางส่วนและให้ท้องถิ่นจัดหาเพิ่มเติม แต่พบว่า ท้องถิ่นที่ยากจนจะมีคุณภาพทางการศึกษาต่ำ งบไม่เพียงพอ ขาดแคลนครูและผู้บริหาร บางสถานศึกษาต้องปิดตัวลง ผู้เรียนต้องเดินทางไกลเพื่อไปเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ และทำให้ครอบครัวไม่ส่งเด็กเข้าโรงเรียน และการออกจากโรงเรียนกลางคัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหาเหล่านี้บ้างแล้ว โดยให้เงินสนับสนุนครอบครัวที่มีฐานะไม่ดี ที่มีลูกใน     วัยเรียน
กมล สุดประเสริฐ (2544 : 20-22) ได้ให้ข้อเสนอแนะว่ารูปแบบการบริหารและการจัดการศึกษาแบบกระจายอำนาจของไทย ควรเป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้มีกระทรวงศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ทำหน้าที่กำกับดูแล โดยลดภาระหน้าที่ในการบริหารจัดการศึกษาลง พร้อมโอนอำนาจหน้าที่ในการบริหารและจัดการศึกษาให้เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด โดยเขตพื้นที่การศึกษาควรจัดเป็นองค์การบริหารการศึกษาส่วนท้องถิ่นที่รัฐกำหนดขึ้นในแต่ละจังหวัด โดยรวมหน่วยงานการศึกษาของกระทรวงศึกษาที่มีอยู่แล้วในจังหวัดเข้าด้วยกัน และมีคณะกรรมการการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม (คศศว.) เขตพื้นที่พร้อมทั้งผู้อำนวยการเขต ทำหน้าที่บริหารและจัดการศึกษาตามที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ กำหนด เขตพื้นที่การศึกษาอาจมีจำนวนตมจำนวนจังหวัดทั้ง 75 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร
คณะกรรมการการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมชุดหนึ่งสามารถปฏิบัติงานให้เขตพื้นที่การศึกษาอื่นได้ด้วย โดยอาจพิจารณาให้เป็นเขตการศึกษาพิเศษหรือเขตพื้นที่การศึกษารวม (Unified School District) ไปก่อน ให้สอดคล้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดและมหานคร (กทม.) ทุกเขตพื้นที่การศึกษาเหล่านี้ต้องร่วมมือกับสถานศึกษาในการบริหารและจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งในด้านวิชาการ งานบุคคลและงบประมาณ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้มีคณะกรรมการการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมท้องถิ่น ในเทศบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นด้วย  
การกระจายอำนาจทางการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าหลายฝ่ายยังมีความเห็นไม่ตรงกัน และเกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากครู โดยเฉพาะประเด็นปัญหาในอดีต เมื่อครั้งที่การประถมศึกษาอยู่ภายใต้องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งครั้งนั้นครูไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม และเหมาะสมกับศักดิ์ศรีของวิชาชีพ รวมทั้งปัจจุบันที่ยังมีความไม่ไว้วางใจกันในเรื่องความพร้อม ความรู้ความเข้าใจ และความจริงใจที่จะรับโอน ทำให้การถ่ายโอนการศึกษาต้องหยุดชะงักไม่สามารถดำเนินการได้ตามกำหนด วรัยพร แสงนภาบวร  (2550 : ออนไลน์) กล่าวว่า เพื่อให้การถ่ายโอนการศึกษาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งนี้ เป็นไปด้วยความราบรื่นบนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ปราศจากปัญหาความขัดแย้งและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่การศึกษาของชาติ จึงมีประเด็นข้อเสนอแนะที่สำคัญ ๆ ดังนี้
          1) ต้องนำหลักการการกระจายอำนาจที่แท้จริง และถูกต้องมาเป็นหลักในการจัดระบบการกระจ่ายอำนาจ เช่น หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน หลักความเป็นมืออาชีพด้านการศึกษา หลักความเป็นอิสระในการตัดสินใจ หลักคุณประโยชน์ทางการศึกษาของผู้เรียน หลักธรรมาภิบาลในการจัดการศึกษา ฯลฯ เพื่อให้การศึกษาโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบโครงสร้างและกลไกที่มีมาตรฐานและประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้การศึกษาของชาติมีคุณภาพทัดทียมประเทศที่พัฒนาแล้ว
          2) ต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการการศึกษาขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการศึกษา สามารถอุทิศตนเพื่อการศึกษาของชาติ และเป็นที่ยอมรับนับถือของสังคม เพื่อให้การศึกษาเป็นอิสระจากฝ่ายปกครองและการเมืองโดยมีกฎหมายรองรับ เป็นการกระจายอำนาจสู่ประชาชนอย่างแท้จริง
          3) ควรเน้นการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา (School-Based Management) เพื่อให้การตัดสินใจไปอยู่ระดับที่ใกล้ชิดกับผู้เรียนมากที่สุด และสถานศึกษามีอิสระในการบริหารทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล
          4) มีระบบการบริหารงานบุคคล สำหรับครูบุคลากรทางการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นหลักประกันว่าครูและบุคลากรทางการศึกษา จะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ได้รับการดูแลที่ดีทั้งค่าตอบแทนและสวัสดิการต่าง ๆ รวมทั้งมีโอกาสในการมีส่วนร่วมตัดสินใจ ไม่ด้อยไปกว่าสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ได้รับอยู่เดิม
          5) มีระบบการบริหารงบประมาณ เพื่อการศึกษาที่มีประสิทธิภาพทั้งการระดม การจัดสรรและการใช้งบประมาณ อันจะก่อให้เกิดความเสมอภาพและเป็นธรรม รวมทั้งมีระบบการตรวจสอบความโปร่งใส เพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประโยชน์กับผู้เรียนมากที่สุด
          6) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดการศึกษาต้องให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาทุกรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนและการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยด้วย เพื่อส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตและสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้
          7) การศึกษาตัวอย่างประเทศที่ดำเนินการจนประสบความสำเร็จแล้ว และนำหลักการที่สำคัญมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการกระจายอำนาจทางการศึกษา สู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย เพื่อให้การบริหารและจัดการศึกษาโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย มีประสิทธิภาพ สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับคนไทยในท้องถิ่นต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง
จากการศึกษาแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจทางการศึกษาดังกล่าว ทำให้เห็นถึงความพยายามในการขับเคลื่อนนโยบายการกระจายอำนาจทางการศึกษาของหน่วยงานที่เป็นต้นสังกัด ประการหนึ่ง และทำให้ข้าพเจ้าเห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจทางการศึกษาตลอดจนเห็นแนวทางในการสร้างรูปแบบการกระจายอำนาจทางการศึกษาที่จะนำเสนอในลำดับต่อไป          แม้ว่าการกระจายอำนาจทางการศึกษาจะสอดคล้องกับลักษณะของยุคโลกาภิวัตน์และเป็นความจำเป็นในการบริหารยุคใหม่ก็ตาม หากผู้มีอำนาจเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องมากเกินไป อนาคตของประเทศไทยอาจจะไม่แตกต่างจากประเทศที่การกระจายอำนาจก่อเกิดปัญหา ได้แก่ เยอรมันนี สเปน นิวซีแลนด์ และบราซิล ดังได้กล่าวมาแล้ว
............................................................(มีต่อ).........................................................

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รูปแบบการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาของประเทศไทย(ตอนที่ 1)


ด้วยความระลึกถึงพระคุณท่าน รศ.ดร.ทองใบ สุดชารี ผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้เมตตาพวกเรานักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อย่างยิ่ง และบทความฉบับนี้...เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดจากกิจกรรมการเรียนรู้ที่พระอาจารย์ได้สอนพวกเรา...อย่างตั้งใจ...ด้วยอุดมการณ์...

 รูปแบบการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาของประเทศไทย
  
...เมื่อพูดถึงความสำคัญของการศึกษาแล้ว เมื่อมานึกดูว่า
การศึกษาเป็นรากฐานของความมั่นคงและผาสุกของประเทศชาติ
ก็กลับมาคิดอีกอย่างหนึ่งว่า ที่บ้านเมืองจะมีความมั่นคงได้
ทุกคนแม้จะไม่ใช่ครู ก็ต้องช่วยกันในด้านการศึกษานี้
อีกอย่างหนึ่ง ทุกคนแม้จะเป็นฝ่ายการศึกษา
ก็ต้องมีหน้าที่ที่จะทำนุบำรุงให้บ้านเมืองมีความมั่นคง…”

พระบรมราโชวาท
เนื่องในโอกาสเสด็จฯทรงดนตรี
ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร
วันเสาร์ที่ 18 มีนาคม 2515

          จากพระบรมราโชวาท จะเห็นว่าในการจัดการศึกษา จำเป็นต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งนับว่าเป็นแนวทางหนึ่งในการปรับปรุงและเสริมสร้างการปฏิบัติงานในองค์การให้มีประสิทธิภาพและมีความเข้มแข็งยั่งยืน เนื่องจากการศึกษาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ทุกฝ่าย การรวมพลังจากบุคคลต่าง ๆ ในสังคม ร่วมแสดงความคิดและกำหนดทิศทางในการพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การศึกษาจึงไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกคนจะต้องช่วยกันในการพัฒนามนุษย์ออกไปสู่สังคมและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข (เมตต์ เมตต์การุณ์จิต 2547 : 48) ซึ่งการจัดการศึกษาที่พึงประสงค์ในยุคโลกาภิวัตน์ควรมีลักษณะ (1) เปิดห้องเรียนสู่โลกกว้างให้สิ่งรอบข้างเป็นครู (2) เปิดโลกทัศน์ของเด็กให้กว้าง ให้ทุกคนได้สังเกต ได้คิด ได้ถาม ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง จากสิ่งที่อยู่รอบตัว ให้ได้ยินกับหู ได้ดูกับตา และได้สัมผัสด้วยตัวเอง และ (3) ร่วมปลดปล่อยพลังสมองของผู้เรียนปฏิรูปการเรียนรู้ ผู้เรียนสำคัญที่สุด (ธีระ  รุญเจริญ 2550:38-39)  
ปัจจุบันเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในโลกอย่างมากในแทบทุกด้าน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต การศึกษาวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ของโลกจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์ รวมทั้งด้านการศึกษาด้วย การศึกษานับเป็นหัวใจของการพัฒนามนุษย์ การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาจึงได้รับความสนใจในหมู่นักวิชาการ เพื่อหาหนทางในการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาให้ดีขึ้น  (ปองสิน วิเศษศรี 2549 : 26) การคาดหวังที่จะให้การศึกษามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ แต่ทว่าระบบการศึกษาไทยไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เพราะความไม่พร้อมทั้งทางด้านปริมาณ(ประชาชนมีการศึกษาน้อย) ด้านคุณภาพการศึกษายังต่ำเมื่อเทียบกับนานาประเทศ ด้านความเสมอภาคและสิทธิทางการศึกษายังเหลื่อมล้ำกันมาก ตลอดจนยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ ประการสำคัญก็คือการบริหารและการจัดการศึกษามีลักษณะแบบรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นงานวิชาการ บุคลากร งบประมาณ ตลอดจนการบริหารทั่วไป นับว่าเป็นการสวนกับกระแสโลก (สำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) 2544 : 3) ในแวดวงการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การปฏิรูปการศึกษาซึ่งมีความมุ่งหมายที่จะจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี คนเก่ง มีความเมตตากรุณา และมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีพลังและประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการกระจายอำนาจและให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รวมทั้งเป็นไปตามหลักการของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ให้การจัดระบบโครงสร้างและกระบวนการจัดการศึกษาของไทยมีเอกภาพเชิงนโยบาย และมีความหลากหลายในทางปฏิบัติ มีการกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา เพื่อให้มีความคล่องตัว มีอิสระในการบริหารจัดการ โดยใช้หลักการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Based Management : SBM) เป็นการสร้างรากฐานและความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษา สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐานและสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับคำกล่าวของ ธีระ รุญเจริญ (2550 : 21) ที่กล่าวว่า การกระจายอำนาจในการบริหารเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา และสอดคล้องกับลักษณะของยุคโลกาภิวัตน์ และ สมาน อัศวภูมิ (2550 : 88) ที่กล่าวว่า การกระจายอำนาจการบริหารงานเป็นความจำเป็นในการบริหารยุคใหม่ ทั้งการบริหารงานองค์การของรัฐและเอกชน
ระบบการศึกษาไทย ได้มีแนวคิดของการกระจายอำนาจที่ผสมผสานกันในรูปของการแบ่งอำนาจและการให้อำนาจมาโดยตลอด แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ปรากฏว่า การนำนโยบายเป็นไปในรูปของการแบ่งอำนาจมากกว่าการให้อำนาจ และการกระจายอำนาจทางการศึกษาในรูปแบบให้อำนาจเป็นแต่เพียงการเข้าไปมีบทบาทอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในเอกสาร หลักฐานของทางราชการและเป็นแนวคิดในการกำหนดนโยบาย โดยในทางปฏิบัติกลับปรากฏรูปแบบการบริหารการศึกษาตามแนวคิดของการกระจายอำนาจแบบแบ่งอำนาจ (deconcentralization) และการมอบอำนาจ (delegation) อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่า อันแสดงถึง การกระจายอำนาจให้ข้าราชการในสังกัด       (ภานุวัฒน์ ภักดีวงศ์ 2540 อ้างใน วิสุทธิ์ วิจิตรพัชราภรณ์ 2550 : 1) การกระจายอำนาจการบริหารการศึกษา เป็นการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบในการตัดสินใจทางการบริหารการศึกษาจากส่วนกลางไปยังระดับล่างหรือระดับปฏิบัติ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนในท้องถิ่น หน่วยงานและสถานศึกษา (ธีระ รุญเจริญ 2545 : 50) เป็นการโอนอำนาจหน้าที่ในด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป ไปยังระดับเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะต้องสอดคล้องตามเจตนารมณ์ที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติบัญญัติไว้ (เมตต์ เมตต์การุณ์จิต 2547 : 192)
จากการศึกษาของสภาการศึกษา (2546 อ้างใน ธีระ รุญเจริญ 2550 : 12-13) ได้เสนอข้อสรุปการอภิปรายเรื่อง การบริหารแบบกระจายอำนาจ โรงเรียนพร้อมหรือยัง ซึ่งผลอภิปรายมีดังนี้
1) ความต้องการของสถานศึกษาในเรื่องการกระจายอำนาจ คือ ขอให้หน่วยงานต้นสังกัดมอบความไว้วางใจ และเชื่อมั่นว่าโรงเรียนสามารถบริหารจัดการในเรื่องวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคลากร และการบริหารทั่วไปได้ นอกจากนี้ควรปรับปรุงระเบียบกฎหมายที่ล้าสมัย เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้สถานศึกษาขาดความเป็นอิสระและความคล่องตัวในการบริหารจัดการด้วยตนเอง
2) ความพร้อมของสถานศึกษาในการรองรับการกระจายอำนาจ คือ (1) สถานศึกษาส่วนใหญ่รับรู้แล้วว่าหากมีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จะทำให้สามารถจัดการศึกษาได้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและชุมชน มีความฉับไว และทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น (2) สถานศึกษาส่วนใหญ่ได้เริ่มลงมือปฏิบัติในการเตรียมการรองรับการกระจายอำนาจ เช่น การนำกระบวนการจัดทำงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน (PBB) มาใช้ในการบริหารจัดการโดยเน้นการมีส่วนร่วม การบริหารโดยองค์คณะบุคคล การประกันคุณภาพ และการตรวจสอบการใช้งบประมาณ เป็นต้น และมีสถานศึกษาจำนวนหนึ่งสามารถดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว และ (3) สถานศึกษามีความพร้อมในการรองรับการกระจายอำนาจในเรื่องการบริหารวิชาการและการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ยังไม่มีความพร้อมในเรื่องการบริหารบุคลากร และการบริหารงบประมาณ เนื่องจากยังมีกฎระเบียบจากส่วนกลางมากเกินไป และส่วนหนึ่งเคยชินกับวัฒนธรรมแบบรวบอำนาจและการสั่งการมานาน คิดสร้างสรรค์ด้วยตนเองไม่เป็น
3) ปัจจัยที่ทำให้สถานศึกษามีความพร้อมในการรองรับการกระจายอำนาจ คือ (1) ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการโดยองค์คณะบุคคล และการมีส่วนร่วมของกรรมการสถานศึกษา เครือข่ายพ่อแม่ ผู้ปกครอง (2) การพัฒนาทีมงานภายในโรงเรียน ให้มีความรู้ ความสามารถ ทัศนคติที่ถูกต้อง ในการบริหารจัดการเพื่อรองรับการกระจายอำนาจ (3) ระบบต่าง ๆ ภายในโรงเรียนต้องมีความพร้อม และมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ระบบข้อมูล ระบบประกันคุณภาพ ระบบจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น (4) การรวมพลังของสถานศึกษาในลักษณะเครือข่าย ไม่ใช่อยู่อย่างโดดเดี่ยว เพื่อให้สถานศึกษาต่าง ๆ ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการปฏิรูป ก้าวเดินไปพร้อมกันและภาคภูมิใจในความสำเร็จร่วมกัน และ (5) ผู้บริหารสถานศึกษาต้องกล้าคิดด้วยตนเอง ไม่ใช่แค่รอคำสั่ง ต้องมีความกล้าหาญในเชิงจริยธรรม เพื่อให้ได้รับความเชื่อถือ ศรัทธาจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย มีคุณธรรม ยุติธรรม และมีความโปร่งใส ไม่บริหารแบบรวบอำนาจในลักษณะอำนาจนิยม เป็นนักประสานที่ดี คิดกว้าง มองไกล เป็นผู้นำด้านการวิเคราะห์ และเข้าใจสภาพบริบทของตนเองได้ชัดเจน มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการบริหารจัดการศึกษาโดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ
สอดคล้องกับ ธีระ รุญเจริญ (2550 : 17) ที่กล่าวว่า การกระจายอำนาจการบริหารการศึกษาจะเกิดประสิทธิผลย่อมต้องอาศัยบุคลากรที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายในการนำระบบมาสู่การปฏิบัติ ซึ่งต้องอาศัยเงื่อนไขหลายประการ เช่น 1) การอาศัยการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงภาวะผู้นำ การกระจายอำนาจ โดยอาศัยแรงผลักดันอย่างเป็นระบบ 2) การอาศัยนโยบายของฝ่ายบริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการอย่างต่อเนื่องและชัดเจน ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงเมื่อเปลี่ยนผู้บริหาร 3) การอาศัย    จิตวิญญาณภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง การกระจายอำนาจของบุคลากรทุกระดับ 4) การอาศัยหลัก     ธรรมาภิบาลในการบริหาร 5) การสร้างทุกระดับขององค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และ 6) การนำหลักประชาธิปไตยมาใช้อย่างแท้จริง
สำนักนโยบายและแผนการศึกษาสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ดำเนินโครงการ "วิจัยการกระจายอำนาจทางการศึกษา" เพื่อศึกษารูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษาในการกระจายอำนาจด้านวิชาการ ด้านงบประมาณและด้านการบริหารงานบุคคลของ 8 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมทั้งได้มีการสังเคราะห์งานวิจัยดังกล่าว เพื่อเสนอนโยบาย เกี่ยวกับรูปแบบการกระจายอำนาจทางการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้   (วรัยพร แสงนภาบวร  2550 : ออนไลน์)
 การบริหารระดับกระทรวง การวิจัย พบว่าทั้ง 8 ประเทศมีกระทรวงศึกษาฯ ซึ่งแต่ละประเทศใช้ชื่อ Ministry of Education (แต่ก็อาจจะรวมภารกิจด้านอื่นๆ ด้วย เช่น วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม กีฬา การทำงาน เป็นต้น) เพียงกระทรวงเดียวที่เป็นกระทรวงหลักในการจัดการศึกษาของชาติโดยมีบทบาทในการกำหนดนโยบายควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน ติดตามประเมินผล และสนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา
การบริหารระดับท้องถิ่น ประเทศที่มีรูปแบบการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างชัดเจน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น และในการบริหารการศึกษาระดับท้องถิ่นของประเทศเหล่านี้  มีคณะกรรมการการศึกษา (Board of Education) ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการศึกษา สามารถอุทิศเวลาได้อย่างเต็มที่และเป็นที่ยอมรับนับถือของสังคม เป็นองค์คณะบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจโดยมีกฎหมายรองรับให้คณะกรรมการการศึกษาดังกล่าวมีความเป็นอิสระ (Autonomy) ในการบริหารทั้งด้านงบประมาณวิชาการ และการบริหารงานบุคคล เป็นอิสระจากฝ่ายปกครอง และปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง นอกจากนี้ คณะกรรมการการศึกษาดังกล่าวยังมีแหล่งรายได้ เพื่อจัดการศึกษาที่แน่นอนอีกด้วย
การบริหารระดับสถานศึกษา ประเทศที่มีการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาโดยตรงเพื่อให้โรงเรียน มีอิสระในการบริหารตนเอง (Self-Managing School) ได้แก่ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยมีคณะกรรมการสถานศึกษา (School Council) เป็นองค์คณะบุคคลที่มีอำนาจในการตัดสินใจสูงสุด และแม้แต่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเคยกระจายอำนาจสู่องค์กรบริหารการศึกษาท้องถิ่น (Local Education Authority-LEA) ก็ได้เปลี่ยนเป็นกระจายอำนาจจากกระทรวงสู่สถานศึกษาโดยตรงไม่ต้องผ่านท้องถิ่น โดยมีคณะกรรมการสถานศึกษา (Board of Governors) เป็นองค์คณะบุคคลผู้ทำหน้าที่บริหารและจัดการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศสหรัฐอเมริกาก็เน้นการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา ให้บริหารโดยโรงเรียนเป็นฐาน (School-Based Management) ตลอดจนส่งเสริมให้โรงเรียนมีอิสระมากขึ้น ในรูปแบบโรงเรียนในกำกับ (Charter School) ส่วนประเทศมาเลเซียและฝรั่งเศสมีการกระจายอำนาจน้อยกว่าประเทศอื่นๆ แต่ก็ให้อิสระแก่สถานศึกษามากขึ้นเช่นกัน
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงกับท้องถิ่นและสถานศึกษานั้น ส่วนใหญ่จะเป็นความสัมพันธ์แบบเกื้อกูล ในลักษณะให้ความช่วยเหลือและคำปรึกษาแนะนำ ไม่ใช้ความสัมพันธ์แบบควบคุมหรือสั่งการ โดยส่วนกลางสามารถให้การสนับสนุนด้านทรัพยากร สำหรับโครงการพิเศษ หรือเพื่อควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน เช่น กรณีประเทศญี่ปุ่น กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครอง                     ส่วนท้องถิ่นร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ตามที่กฎหมายกำหนด และกระทรวงมีอำนาจขอให้คณะกรรมการการศึกษาทุกแห่ง เสนอรายงานสถิติข้อมูลเพื่อจัดทำสถิติการศึกษา ตลอดจนจัดทำแผนและนโยบายการพัฒนาการศึกษาในภาพรวมของประเทศ
การกระจายอำนาจและความรับผิดชอบด้านการศึกษา งานวิจัยพบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศต่างๆ สามารถร่วมรับผิดชอบภารกิจในการจัดการศึกษาได้ทุกรูปแบบ ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้แต่ละท้องถิ่นมีการจัดการศึกษาตลอดชีวิตอย่างทั่วถึง แม้แต่ประเทศมาเลเซียที่ยังค่อนข้างรวมอำนาจก็มีกำหนดให้มี Mini Ministry ในแต่ละรัฐที่มีอำนาจเช่นเดียวกับส่วนกลาง
นอกจากนี้ บางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ยังมีการแบ่งภารกิจอย่างชัดเจนตามระดับขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดให้เทศบาลจัดการศึกษาภาคบังคับและองค์การบริหารส่วนจังหวัดรับผิดชอบการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและการศึกษาพิเศษ เป็นต้น
การกระจายอำนาจด้านงบประมาณ พบว่า ประเทศที่กระจายอำนาจสู่สถานศึกษาโดยตรง เช่น ออสเตรเลีย จะจัดสรรงบประมาณร้อยละ 94 เป็นเงินอุดหนุนให้สถานศึกษามีอิสระในการบริหารอย่างเต็มที่ บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา กำหนดให้รัฐบาลท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณ เพื่อการศึกษาเองทั้งหมด ด้วยงบประมาณที่ได้จากภาษีโรงเรือนและที่ดินของท้องถิ่น (Property Tax) บางประเทศก็กำหนดให้รัฐบาลกลางร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทางการศึกษาด้วย เช่น ญี่ปุ่น กำหนดให้รัฐบาลกลางรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือนครู ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง
นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่าหลายประเทศ เช่น อังกฤษ และญี่ปุ่น มีกลไกการจัดสรรงบประมาณโดยคำนึงถึงความเป็นธรรม (Fair Funding) พิจารณาความต้องการและความจำเป็นของผู้เรียนสภาพบริบทของโรงเรียน ฯลฯ ทำให้ผู้เรียนทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้เรียนประเภทใด หรืออยู่ส่วนไหนของประเทศก็มีสิทธิได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน
กระจายอำนาจด้านการบริหารงานบุคคลนั้น ประเทศที่มีการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นกำหนดให้ครูเป็นบุคลากรสังกัดองค์กรปกครอง                ส่วนท้องถิ่น แต่ถึงแม้ครูจะสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ตาม อำนาจเต็มในการบริหารงานบุคคล ตั้งแต่การสรรหา แต่งตั้ง การพัฒนาวิชาชีพ การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ การจ่ายค่าตอบแทน และการพิจารณาความดีความชอบก็เป็นของคณะกรรมการการศึกษา ไม่ใช่อำนาจของฝ่ายปกครอง คณะกรรมการการศึกษาจัดให้มีระบบการพัฒนาครูอย่างเข้มข้น เพื่อให้ครูได้รับความรู้ใหม่ๆตลอดเวลา รวมทั้งมีระบบการดูแลให้ครูได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการต่างๆ ที่เหมาะสมกับศักดิ์ศรีความเป็นวิชาชีพชั้นสูง
ส่วนประเทศที่กระจายอำนาจสู่สถานศึกษาโดยโรงเรียนเป็นฐาน (School-Based Management) กำหนดให้คณะกรรมการสถานศึกษามีอิสระในการสรรหาและแต่งตั้งผู้บริหารสถานศึกษาได้เอง และผู้บริหารสถานศึกษาร่วมกับกรรมการสถานศึกษาดำเนินการคัดเลือกครู รวมทั้งบริหารงานบุคคลทั้งระบบได้เองโดยอิสระ
การกระจายอำนาจด้านวิชาการและหลักสูตร ทุกประเทศมีการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ มีการปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ประเทศนิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และอังกฤษ มีการกำหนดหลักสูตรแห่งชาติ เพื่อควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของประเทศในภาพรวม แต่ทุกประเทศก็มีทิศทางการกระจายอำนาจที่ให้อิสระแก่สถานศึกษาในการปรับรูปแบบการเรียนการสอนและเนื้อหาให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และมีการประเมินผลสัมฤทธิ์เพื่อควบคุมคุณภาพและมาตรฐานทั้งในรูปแบบการประเมินภายในและการประเมินภายนอก
หลักการในการกระจายอำนาจทางการศึกษา จากการสังเคราะห์งานศึกษาวิจัยดังกล่าวพบว่า การกระจายอำนาจทางการศึกษาของทุกประเทศยึดหลักการสำคัญๆ ของการกระจายอำนาจ ได้แก่ หลักการมีส่วนร่วม หลักความเป็นประชาธิปไตย หลักความเป็นกลางทางการเมือง หลักความเป็นมืออาชีพ หลักคุณประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน หลักความเสมอภาคและเป็นธรรม หลักคุณภาพและประสิทธิภาพ และหลักธรรมาภิบาล ทำให้การบริหารและจัดการศึกษาดำเนินไปบนฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน มีระบบการตรวจสอบความโปร่งใส และยึดประโยชน์สูงสุดของผู้เรียนเป็นที่ตั้ง
...................................................... (โปรดติดตามตอนต่อไป).....................................................................

วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การประเมินคุณภาพภายใน(ต่อ)


เป็นอีกหนึ่งร่องรอยที่คณะครูของพวกเราได้พยายามรวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ความเป็นเราออกมาในมาตรฐานที่ 8

แบบบันทึกผลการประเมินคุณภาพภายในตามาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา  ปีการศึกษา  2544
โรงเรียนศรีเมืองวิทยาคาร   อำเภอศรีเมืองใหม่  จังหวัดอุบลราชธานี



มาตรฐาน/ตัวบ่งชี้
จำนวนบุคคลที่อยู่ในระดับ 3 ขึ้นไป
จำนวนบุคคลทั้งหมด
ร้อยละที่ได้
ค่าน้ำหนัก
คะแนนที่ได้
เทียบระดับคุณภาพ
ความ
หมาย
มาตรฐานที่ 8  ผู้บริหารปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล



10
9.93
5
ดีเยี่ยม
8.1  ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์  ภาวะผู้นำ และความคิดริเริ่มที่เน้นการพัฒนาผู้เรียน
5
5
100


1
1
5
ดีเยี่ยม
8.2   ผู้บริหารใช้หลักการบริหารแบบมีส่วนร่วมและใช้ข้อมูลผลการประเมินหรือผลการวิจัยเป็นฐานคิดทั้งด้านวิชาการและการจัดการ
5
5
100

2
2
5
ดีเยี่ยม
8.3   ผู้บริหารสามารถบริหารจัดการการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการ
5
5
100
2
2
5
ดีเยี่ยม
8.4 ผู้บริหารส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้พร้อมรับการกระจายอำนาจ   
5
5
100
2
2
5
ดีเยี่ยม
8.5 นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนพึงพอใจผลการบริหารและการจัดการศึกษา
1,800
1,915
93.99
1
0.93
5
ดีเยี่ยม
8.6 ผู้บริหารให้คำแนะนำ คำปรึกษาทางวิชาการ และเอาใจใส่การจัดการศึกษาเต็มศักยภาพและเต็ม
5
5
100
2
2
5
ดีเยี่ยม
สรุปผลภาพรวมของมาตรฐานที่ 8
คะแนนที่ได้  9.93  เทียบระดับคุณภาพ  5  แปลความหมายได้  ดีเยี่ยม

ร่องรอยความพยายาม  (โครงการ/กิจกรรมที่ทำ)
- ข้อมูลสารสนเทศ
- แผนปฏิบัติการประจำปี 2554
- คำสั่งการปฏิบัติงานโรงเรียน
- บันทึกการประชุม   รายงานการประชุมประจำเดือน
- รายงานประจำปีของโรงเรียน
- แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา
- แบบรายงานการเข้ารับการอบรมของคณะครูและบุคลากรทางการศึกษา
- แผนการจัดการเรียนรู้
- สมุดนิเทศการจัดการเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้
- แฟ้มสะสมผลงานครู/ผู้บริหารสถานศึกษา
- ประกาศนียบัตร/รางวัลต่างๆ
- รายงานการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- บัญชีลงเวลาการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนศรีเมืองวิทยาคาร ปีการศึกษา 2552-2555
- หนังสือติดต่อประสานงานกับหน่วยงาน (หนังสือรับ ส่ง)
- รายงานผลการปฏิบัติงานของครูและบุคลากรทางการศึกษา
- แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา
- แผนปฏิบัติการประจำปี โครงการ/กิจกรรม
- รายงานโครงการ
- รายงานประจำปีของโรงเรียน
- คำสั่งของโรงเรียน
- บันทึกการประชุมของโรงเรียน
- สถิติการใช้ห้องสมุด
- สถิติการยืมหนังสือ วารสาร
- รายงานการวิจัย
- หลักสูตรสถานศึกษา
- สมุดนิเทศ
- สมุดตรวจราชการ
 - แผนพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา
- แผนปฏิบัติการประจำปี โครงการ/กิจกรรม
- คำสั่งโรงเรียน
- รายงานโครงการ
- รายงานประจำปีของโรงเรียน
-แผนปฏิบัติการประจำปี โครงการ/กิจกรรม
- แบบรายงานการเข้ารับการอบรมของคณะครูและบุคลากรทางการศึกษา
- บันทึกการประชุม
- คำสั่งการปฏิบัติงานของโรงเรียน
- สมุดนิเทศ
- รายงานการประเมินภายนอกของ สมศ.
- รายงานประจำปีของโรงเรียน
- แฟ้มสะสมผลงานของครู
- วีดิทัศน์รายงานการดำเนินงานโรงเรียน
- แผนภูมิการจัดโครงสร้างองค์กร แผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม  มีการนิเทศติดตามกำกับงาน
- แบบสอบถามในการปฏิบัติงานตามโครงการต่างๆ
- รายงานการเยี่ยมบ้าน
- รายงานการปฏิบัติงานครูประจำหมู่บ้าน
- รายงานการประชุมผู้ปกครอง
- แผนการจัดการเรียนรู้
- หลักสูตรสถานศึกษา
- สื่อการเรียนรู้
- การวัดและประเมินผลการเรียนรู้  (ปพ.5)
- รายงานการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้
- สมุดนิเทศ

 วิธีการพัฒนาคุณภาพ
          ผู้บริหารสถานศึกษามีวิสัยทัศน์  มีภาวะผู้นำ มีความสามารถทางวิชาการ และมีความคิดริเริ่มในการบริหารจัดการสถานศึกษาและส่งเสริมพัฒนาครู ให้มีความรู้และทักษะเกี่ยวกับหลักสูตรสถานศึกษา การจัดทำ ID Plan ของครูทุกคน  มีการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยแต่งตั้งครูทุกคนเป็นที่ปรึกษานักเรียนเพื่อดูแลอย่างทั่วถึง  มีการคัดกรองนักเรียน การเยี่ยมบ้านนักเรียนทุกคนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง  ส่งเสริมให้ครูใช้สื่อเทคโนโลยีและภูมิปัญญา มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียน                        มีความสามารถในการวิเคราะห์  สังเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศต่างๆเพื่อนำมาใช้ในการวางแผนการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน  แสดงทิศทางของการพัฒนาการศึกษาของสถานศึกษาในอนาคตที่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาและชุมชน  มีความคิดริเริ่ม เทคนิค วิธีการใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน มีการกระตุ้นครูและบุคลากรให้ร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยใช้กระบวนการบริหารแบบมีส่วนร่วมโดยเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ประกอบด้วย ครู ผู้เรียน  ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา ชุมชน และหน่วยงานอื่นได้รับรู้และให้ข้อมูลสารสนเทศ ให้ความคิดและข้อเสนอแนะ รวมทั้งเป็นแบบอย่างที่ดี  เสนอและเลือกแนวทางประกอบการตัดสินใจ กำหนดนโยบายในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างรอบด้าน และดำเนินการติดตามตรวจสอบ ปรับปรุงพัฒนา โดยใช้ข้อมูลผลการประเมิน หรือผลการวิจัย ในการบริหารจัดการศึกษา ร้อยละ 80 ขึ้นไป ของจำนวนโครงการ/กิจกรรมตามแผน

ผลการพัฒนา
          จุดเด่น
          โรงเรียนได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรที่กำหนด  นักเรียนมีความรับผิดชอบเมตตากรุณาขยัน  ซื่อสัตย์  สุจริต  ประหยัดและอดออม มาตรฐานที่ 8   อยู่ในระดับคุณภาพ  5  แปลความหมายได้ระดับ  ดีเยี่ยม ซึ่งเกิดจากความรับผิดชอบของคณะครู อาจารย์ และการให้ความร่วมมือของนักเรียน
          ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดจุดเด่น
          ผู้บริหารวางแผนและเป้าหมายของหลักสูตร มีการวัดผลประเมินผลและนำมาปฏิบัติในสภาพจริง   ชุมชนให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษา การแนะแนวและการเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน  มีเจตคติที่ดีต่อโรงเรียน และเพื่อนร่วมงาน
จุดที่ควรพัฒนา
          พัฒนาครูในด้านการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโดยนิเทศภายใน ส่งเสริมงานวิจัยในชั้นเรียนเพื่อแก้ปัญหาในการจัดการเรียนการสอนเพื่อเป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  เพื่อเกิดประโยชน์สุงสุดต่อผู้เรียน
ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดจุดที่ควรพัฒนา
          ผลการประเมินระดับชาติ (NT,O-NET) ต่ำกว่ามาตรฐานเมื่อคิดเฉลี่ยในภาพรวมระดับสถานศึกษา

แนวทางการพัฒนาในอนาคต
          จากผลการดำเนินงานทั้งหมดในปีการศึกษา 2554 ที่ผ่านมา พบว่ามีข้อค้นพบสำคัญที่ต้องพัฒนาให้มีคุณภาพสูงขึ้นต่อไป โดยมีแนวทางการพัฒนา ดังนี้ คือ
1. พัฒนาบุคลากร
-จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องวิจัยในชั้นเรียนและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
-จัดทัศนศึกษาดูงานทางวิชาการและส่งเสริมในการพัฒนาตนเองเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น
2. การพัฒนาทรัพยากร
- จัดทำโครงการขอความร่วมมือและขอความช่วยเหลือจากชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน
3. การพัฒนาอาคารสถานที่
- ปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนให้สะอาดสวยงาม และร่มรื่น
4. การพัฒนาการเรียนการสอน
- สร้างเครื่องมือวัดผลประเมินผลของผู้เรียนตามสภาพจริง
- ส่งเสริมให้ครูผลิตสื่อการเรียนการสอนและสร้างแบบฝึกต่างๆที่หลากหลาย
- กำหนดนโยบายนิเทศภายในภาคเรียนละ  3   ครั้ง
- ส่งเสริมให้ครูผู้สอนจัดทำรายงานการวิจัยในชั้นเรียน
-  ส่งเสริมให้ครูผู้สอนได้ศึกษาและเรียนรู้เทคนิค  วิธีการเรียนการสอน  การนำเสนอที่มีประสิทธิภาพจากโครงการ  ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
        
  
                                                          ลงชื่อ                                กรรมการประเมิน
                                                                    (                                     )